top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๑๘ : สืบมรรคา อาณาอารยธรรมขอม (1)



เสียงนายศุขคุยกับตาพุ่มคนเรือ ฟังแปลกหูแต่ก็เพลินอยู่ สองคนนี้มักเถียงกัน นายศุขเรียกให้ตาพุ่มเปลี่ยนผ้าเช็ดทำความสะอาด ตาพุ่มเกี่ยงว่าเช็ดแล้ว โดนแดดประเดี๋ยวก็แห้ง


“คุณหนูฟังออกไหมคะ นาย 2 คนนั่น เถียงกันเอาเป็นเอาตาย ไอ้ศุขมันว่ายังไม่สะอาด ตาพุ่มบอกรอให้เรือแห้งเดี๋ยวก็สะอาด” ยายอ่อนพากย์ให้ฟัง


“ต่างคนต่างเหน่อนะคะ ตาพุ่มเป็นคนเก่าคนแก่ของท่านนายพลขวัญสรวง พื้นเพเป็นคนสุโขทัย เมืองกงไกรลาศ ส่วนไอ้ศุขนี่ คนโคราช ท่านนายพลรับครอบครัวนี้มาอุปการะ พ่อไอ้ศุขนี่ขับรถให้ท่านตอนไปประจำการที่ โคราช ท่านขึ้นไปตรวจราชการที่เมืองเพชรบูรณ์​ถูก ผกค สมัยนั้นซุ่มยิ่ง พ่อไอ้ศุขนี่ออกรับกระสุนแทนท่านนายพล กระสุนเข้าหัวใจ ตายทันที”


“ตายจริง มีเรื่องแบบนี้ด้วย คุณพ่อไม่เคยเล่าให้นวลฟังเลย พี่ศุขหนูเห็นมาตั้งแต่ยังเด็ก รับส่งพวกเราไปโรงเรียน หนูเกลียดมากตอนพี่แจ้งแกล้งพี่ศุข ฟ้องคุณแม่อยู่ประจำ”


“นี่ล่ะค่ะ ข้าเก่าเต่าเลี้ยง ท่านให้ที่ให้ทางพวกนี้ให้ทำมาหากิน จะขายเสียก็ได้ มันก็ไม่ได้ขายกินกัน ตาพุ่มอยู่ในสวนฝั่งตรงข้าม นั่นล่ะค่ะ เข้าไปหน่อยเดียว พอสิ้นท่านนายพล คุณหอม ตาพุ่มก็รับจ้างขับเรือส่งของบ้าง แต่ข้าวปลาท่านสั่งไว้ให้มากินกันที่ครัวใหญ่บ้านเรานี่ ต้องเลี้ยงดูกันไปจนกว่าจะตายไปข้าง ... คุณหนูคะ ป้าอยากขอบคุณคุณหนูที่ยังเก็บที่ดิน บ้านสวนแถบนี้ไว้ โดยเฉพาะเรือนหลังนี้ ที่ตาบอด อาศัยทางเข้าออกของวัด เป็นคนอื่นคงรีบขายให้สิ้นเรื่อง”


“หนูทำใจไม่ได้ค่ะ สิ้นคุณพ่อคุณแม่แล้ว หนูคิดเสมอว่าบ้านหลังนี้ เป็นสิ่งที่ “ยึด” โยงหนูไว้ หากไม่มี ก็ไม่กลับมาเมืองไทยแล้ว แต่ก็เกิดเรื่อง ไฮน์ริช อีก หากหนูขายบ้านหลังนี้ไป คงเคว้งคว้างน่าดู เราก็อยู่กันไปแบบนี้ ใครเดือดร้อนอะไร ก็อุ้มชูกันไป หนูชอบนะคะ ที่ตาบอดนี่ เงียบสงบดี เวลาเดินไปตลาด ข้ามสะพานปูนสีเหลืองนี่ เก๋จะตายไป เอ... ว่าแต่เราต้องทำบุญให้วัดสักเท่าไรคะ ที่เราขอผ่านทางนี่น่ะค่ะ”


“โอย สมัยคุณหอมท่านอยู่ แม่คุณหอม ยายคุณหอม นี่ ถวายจนไม่รู้ถ้วนแล้วค่ะ คุณหนูเห็นกุฏิทรงไทยติดฝั่งคลองไหมคะ นั่น คุณยายของคุณหนูสร้างถวาย ท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสมารับบาตรบ้านเราทุกเช้า ท่านเกรงใจบ้านเรามาก นี่ตอนสร้างทางออก ท่านให้คนเขียนเป็นหนังสือ ห้ามปิดกั้นทางเข้าออกเรือนนี้เด็ดขาด ..​


เห็นไอ้จุกร้านก๋วยเดี๋ยวตรงประตูวัดไหมค่ะ นั่นแม่คุณหนูประเดิมทุนให้นะ” ยายอ่อนสาธยายคุณงามระหว่างเรือนพระพระศรีศุลกรักษกับวัดตลิ่งชัน


“ยายอ่อนว่า พี่ศุขเป็นคนโคราชหรือคะ” จันนวลพลันนึกได้ หันไปเรียกนายศุข ยังไม่ทันที่ยายอ่อนจะตอบความ


“พี่ศุขๆ มาจากโคราชหรือคะ แถวไหนคะ”


“พ่อเป็นคนสีคิ้ว แม่เป็นคนสูงเนิน ครับ มีอะไรหรือเปล่าครับ” นายศุขยังสงสัยที่จันนวลโพล่งถามพื้นเพรากเหง้า


“ที่สูงเนิน พี่ศุขเคยเห็นพวกปราสาทหินเก่าๆ ไหมคะ พอมีไหม” จันนวลตื่นเต้นที่จะได้ขุมความรู้อีกแหล่ง


“ที่เห็นก็มีปราสาทเมืองเก่า เมืองแขก แลัวก็หินก้อนๆ กระจัดกระจาย อ้อ.. แล้วที่ผมชอบไปเล่นสมัยเด็กๆ ก็ที่ลานตัดหิน”


จันนวลตื่นเต้นจนเก็บอาการไม่อยู่ ทั้งในประเด็นเรื่องเมืองราดและเส้นทางรถไฟที่ขึ้นชื่อว่า มหาโหด จากบันทึกท่านเจ้าคุณใหญ่ “ไกลไหมคะ พี่ศุข เมืองสีคิ้ว สูงเนิน นี่”


“โอยเดี๋ยวนี้ทางดีขับรถแป๊บเดียวครับ”


“ไม่สิคะ นั่งรถไฟสักกี่ชั่วโมง”


“ก็ประมาณสัก 4-5 ชั่วโมงครับ คุณหนูจะนั่งรถไฟอีกแล้วหรือครับ”


“แหม รู้ใจ แถวนั้นจะมีโรงแรมไหมคะ นวลอยากไปดูปราสาทหิน”


“คุณหนูจะไปยังไงคะ คนเดียว โอย ไม่ดีหรอกค่ะ” ยายอ่อนแทรกขึ้นทันที



“ยายอ่อนขา ฝรั่งเขาเที่ยวทรหดกันจะตายไป หนูเองก็ไม่ใช่สาวๆ เด็กๆ แล้ว เดินทางแค่นี้สบายมาก”


“แถวสูงเนิน มีโรงแรมเล็กๆ ครับ เดี๋ยวนี้คนบ้านผมเขากลับไปทำที่พักกันเยอะ”


“ไอ้ศุข แกยังจะยุคุณหนูอีกนะ” ยายอ่อนหันไปต่อว่านายศุข


“เอาอย่างนี้ ไปกันทั้งหมดนี่ล่ะ ยายอ่อน ออกจากบ้านสวนไปเปิดหูเปิดตาบ้างเถอะค่ะ สัก 2-3 วัน ไปเป็นเพื่อนหนู พี่ศุขก็นำทางหน่อย ได้กลับไปเยี่ยมบ้านด้วย”


ไปๆมาๆ คนที่ตื่นเต้นที่สุดคือ ยายอ่อน ที่ไม่ค่อยได้ออกจากบ้านไหน ‘ห่วงบ้าน’ คือ เหตุผลเดียวของยายอ่อน


อีก 2 วันต่อมา....


“คุณหนูกับแม่อ่อนรอตรงนี้ นะครับ ผมไปแจ้งจอดรถค้างคืนก่อน” นายศุขกุลีกุจอ ส่วนยายอ่อนสาละวนกับของกินที่เตรียมไว้บนรถไฟ รถไฟเร็วเที่ยวเช้า ไม่มีตู้นอนชั้น 1 ยังดีมีเบาะนั่ง จันนวลชอบนั่งรถไฟเป็นชีวิต ตื่นเต้นทุกครั้งไปที่จอดแต่ละสถานี ตามชุมทางใหญ่ก็จะมี ของกิน พื้นบ้าน มาร้องขาย สนุกเหมือนตอนเด็กๆ ที่แม่จะซื้อไก่ย่างเหลืองๆ ให้กินกับข้าวเหนียว


รถไฟแล่นเรื่อย ไม่เร็วไม่ช้า สักชั่วโมงกว่าก็ได้ยิน “ชุมทางบ้านภาชี” จันนวลจำข้อความในบันทึกท่านเจ้าพระยาสวรรครักษราชโยธาได้ดีเกี่ยวกับความทรหดในการข้าป่าผ่านดงพญาไฟ จุดนี้ บ้านภาชี รถไฟสายหนึ่งแยกไปตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอีกสายแยกขึ้นเหนือ เมื่อคราวที่นั่งรถไฟไปสวรรคโลกจันนวลได้เคยผ่านสายนั้นมาแล้ว ตอนนี้รถไฟกำลังจะแยกไปอีกทางที่ท่าน “เจ้าคุณใหญ่” เคยได้ผ่านมา พร้อมเล่าเรื่องต่างๆ ไว้มากมาย


“เมืองโคลาด นี้ ฉันคิดเอาว่าคงเปนเพราะมีพวกนายฮ้อยพ่อค้าวัวต่างจูงวัวกันลงมามาก ทั้งสินค้าจากทางแถบลาวพวน ลาวเวียง จากนี่ทางละลาดลงไปทางหินลับ ปากเพรียว ....​ เมืองเก่าโคลาด นี่อยู่แถบ บ้านสูงเนิน เคยได้ตามนายช่าง เกียรสตไปดูปราสาทงามๆ ในป่า ชาวบ้านเรียกเมืองปราสาทเมืองเก่า ปราสาทพนมวัน อีกทั้งยังมีลานหินตัด อย่างที่บ้านเราแถบบสวรรคโลกก็มีที่ไว้ตัดแลง แถวเขาพระศรี”


รถไฟแล่นผ่านสถานีสระบุรีหรือ ปากเพรียวในอดีต และค่อยๆ ไต่ความสูงขึ้นเข้าป่าดงพญาเย็น อย่างที่เรียกกันในเวลานี้ หินลับในเวลานี้ดูเหมือนเป็นที่จอดคลังสินค้าอะไรสักอย่าง ใครจะเชื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว กี่ชีวิตต้องจากไปแบบไร้ญาติขาดมิตรเพราะไข้ป่า มาลาเรีย


ไม่นานนัก ก็ถึงสถานีสูงเนิน ญาตินายศุขดูจะตื่นเต้นมากที่ จันนวล มาเที่ยวโคราช


“คุณหนูอยากไปเที่ยวที่ไหนหรือเปล่าครับ เห็นเจาะจงมาที่นี่” พี่ชายนายศุขถาม


“ค่ะ อยากไปเที่ยวที่เมืองเก่าค่ะ เอ่อ.. ที่มีปราสาทหินเยอะๆ นะค่ะ”


“พิมายเหรอครับ พิมายต้องไปอีก”


“ไม่ใช่ค่ะ ที่สูงเนินนี่ล่ะค่ะ เป็นเมืองเก่า”


พี่ชายนายศุขและญาติจึงเข้าใจว่าคือ ปราสาทหิน เมืองเก่า เมืองแขก แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไม่เจาะจงต้องเป็นที่นี่


ภาพปราสาทเมืองแขก จากเพจอิสานร้อยแปด

13 views0 comments

Comments


bottom of page