top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๑๘ : สืบมรรคาอาณาอารยธรรมขอม (2)



เกือบ 2 วันเต็มที่จันนวลให้คนท้องถิ่นนำทางไปชมแหล่งตัดหิน ปราสาทต่างๆ ในบริเวณเมืองโคราชเก่า ทั้งศาสนสถาน อโรคยาศาลา ตามขนบการสร้างในอารยธรรมเขมร ช่วยให้เห็นเส้นทางอำนาจขอมเขมรโบราณบนที่ราบสูง นับแต่ปราสาทหินเขาพระวิหาร ปราสาทตาเมือนธม ตาเมือนโต๊ด ในเมืองสุรินทร์ พนมรุ้ง เมืองบุรีรัมย์ พิมาย พนมวัน เมืองแขก เมืองเก่าในโคราช จากจุดนี้เส้นทางจะลาดลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หากตัดตรงไป ก็จะถึง ปรางค์สามยอด เมืองเก่าลพบุรี ต่อไปเมืองสุพรรณบุรี ปราสาทเมืองสิงห์ ในกาญจนบุรี ...


“คุณหนูอยากไปเที่ยวที่ไหนอีกไหมครับ ตาศรีพี่ชายผมมันเคยเป็นพรานเก่า มันรู้ทางดี” นายศุขถาม


“ไม่รู้สิคะ พี่ศุข เอ เมืองศรีเทพ นี่ไปอีกไกลไหมคะ” จันนวลคุ้นๆ จากตำรับตำราที่ค้นคว้ามา


“ไม่ไกลครับ ศรีเทพ วิเชียรบุรี ขับรถไปประมาณสัก 2 ชั่วโมง”


น่าเสียดายที่ความรู้ทางศิลปะเขมรเลือนลางไปมาก ‘นี่ถ้า นัยน์มาด้วยคงจะดี’


เท่าที่จันนวลจำได้ ศรีเทพเป็นเมืองเก่าแก่ยุคทวารวดี แต่มาได้รับอิทธิพลจากเขมรในระยะหลัง อาจเป็นช่วงนครธม สำคัญที่จันนวลอยากรู้คือ เส้นทางจาก สูงเนิน ขึ้นไป ศรีเทพ นั้น หากขึ้นไปอีกหน่อย ก็อาจออกซ้ายเข้าเมืองพิจิตร ลุ่มน้ำน่านได้ จากนั้นคงไม่ไกลที่จะไปถึงสุโขทัย เมืองราด ของพ่อขุนผาเมือง อาจจะอยู่ในเส้นทางนี้ ก็เป็นได้


“ไกลไหมคะ พี่ศรี จากศรีเทพ ไปเมืองพิจิตร” จันนวลถาม


“ไม่ไกลครับ เดี๋ยวนี้ทางดี มีเขานิดหน่อย จากวิเชียรบุรี มีถนนเข้าไปทางตะพานหิน บางมูลนาก ได้ สมัยหนุ่มๆ ผมเคยเร่ขายของอยู่ทางแถบนั้น”


บนรถไฟขากลับ ยายอ่อนหลับไป คงจะเหนื่อยมาก หลังจากที่ต้องวิ่งซื้อข้าวของฝีมือคนโคราช ทั้งเส้นหมี่ หมูแผ่น เห็นอะไรก็จะซื้อไปเสียหมด ลำบากนายศุข เพราะเป็นคนหอบหิ้วลังกล่องต่างๆ ขึ้น ลง รถไฟ


3 อาทิตย์ผ่านไป ใจคนคอยยิ่งหวั่นไหว จันนวลหายไป ‘ไม่กล้า แม้แต่จะถามแม่ลำพา ว่าจันนวลติดต่อมาบ้างหรือไม่’ กรันรื้อตัวหีบอ้อยออก ขัดไม้ที่ผุพัง “ผสาน” เนื้อไม้ใหม่เข้าไป แน่นอนไม้ใหม่อาจไม่ผสานเข้าเนื้อไม้เก่าได้ แต่เนื้อไม้ใหม่ก็ช่วยให้เนื้อไม้เก่ายังอยู่ต่อไปได้ ไม่ต้องทิ้งขว้าง ชีวิตคนหากไม่เปิดรับสิ่งใหม่เข้ามา สิ่งเก่าๆ ก็คงจะมีแต่กลายซาก


กรันขัดแต่งจนเนื้อไม้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน รางน้ำอ้อยที่ฐาน ก็ขัดจนเรี่ยม เฟืองไม้ทั้ง 3 แกน สบกันดี ใจคิดแต่ว่า จันนวลจะ ‘ชอบ’ หรือไม่ เมื่อกลับถึงสวรรคโลกแล้ว


แสงโคมปากคลองตลิ่งชัน ส่ายตามแรงลม เห็นเป็นเงาเลื่อมๆ บนผิวน้ำ จันนวลค่อยร่างรายงานฉบับแรกที่จะต้องส่งให้ UNESCO ข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งของแคว้นสุโขทัยยุคเริ่มต้น


‘สุโขทัย ... ในฐานะ แคว้น หนึ่งในมณฑลอารยธรรมเขมร นครธม ข้ามเทือกเขาพนมดงรัก สู่แดนเขมรสูง ขนานไปตามแนวบนที่ราบสูง สู่ โคราช จากจุดนี้ กระแสอารยธรรมพาดผ่าน สู่ลวปุระ หรือ ลพบุรี สู่ สุพรรณบุรี กาญาจนบุรี อีกสายหนึ่ง อีกสายหนึ่ง อาจขึ้นจาก โคราช สู่เมืองโบราณ ศรีเทพ ในเพชรบูรณ์ ตัดขวางผ่านเมืองพิจิตร สู่ล่มน้ำน่าน ยม อันเปนเขตแดนแคว้นสุโขทัย... ’


ยังไม่คำ่นัก จันนวลเดินไปหอพระ สวดพระพุทธ์มนต์ พระพุทธรูป 3 องค์งามสงบ นิ่ง เมื่อแสงเทียนจับด้านหนึ่ง


ลงจากหอพระ จึงได้เริ่มอ่านบันทึกอีกครั้ง



….​

กลับถึงเมืองพระพิษณุโลกย ฉันได้วันพักอยู่ ๓ - ๔ วัน จึ่งรีบกลับไปสวรรคโลก ถึงเรือนก็ได้รับข่าวดีว่า แม่พรรณระดูไม่มา คงจะตั้งท้องแน่นอน ฉันเองดีใจจนทำอะไรไม่ถูก รีบไปวัดกลางบอกหลวงพี่ทองคำ ท่านเองรับคำว่าจะเอาตัวมาเป็นศิษย หากเปนเดกชาย


กลับมานั่งทบทวนข้อราชการต่างๆ ในกรมรถไฟ เหนอยู่ข้อหนึ่งว่า สยามประเทศกลายเปนแหล่งรังให้ชาวตะวันตกเข้ามาใช้อำนาจข่มกันไปมา ในแผ่นดินผู้อื่น ท่านเจ้าคุณยนตรเตือนฉันว่าอย่าเพ่อเล่าอะไรให้นายช่างเกียรสตฟังมากนัก การที่ฉันได้ไปเรียนที่เยอรมนีนั้นเป็นเงินหลวง หาใช่เงินเขา เขาเปนแต่แนะนำ เราสำนึกอยู่ข้อนี้ แต่ก็ห้ามเผยข้อราชการงานเมืองใดให้รู้ เรื่องทางรถไฟทายโคลาดซึ่งฝ่ายบริเตนทำไม่สำเรจนี้ นับว่าขายหน้าอยู่ไม่น้อย อีกทั้งทำให้ฝ่ายเยอรมันได้ความนิยมไป ฉันนึกเอาเองว่าจะอย่างไรเสียฝ่ายบริเตนคงไม่อยุดแค่นี้เปนมั่นคง ข้อหนึ่งที่สงสัยนักคือเรื่อง ขนาดราง ทางรถไฟสายพระนคร กรุงเก่า โคลาด นี้ มีขนาดเมตร ๑ กับ ๕๐ แต่ทางสายเมืองเพชรที่บริเตนสร้างนั้งแคบกว่า ดูประมาณ ๑ เมตร เปนอันว่าจะแยกสยามประเทศออกเปน ๒ ฝ่ายอย่างนั้นฤา เรื่องนี้ยังไม่กล้าจะเรียนถามเจ้าคุณยนตร เกรงจะดูล้ำเกินไปสักหน่อย


ท่านเจ้าคุณยนตรว่าทางรถไฟสายเหนือก็จวนตัดสินว่าจะผ่านที่ใด ด้วยชายแดนทางฝั่งตวันตกก็ไม่น่าวางใจ ฝ่ายบริเตนแผ่อำนาจลงมาทางเมืองมะละแหม่งแล้ว ทางหัวเมืองมลายูบริเตนก็เข้าครองพื้นที่ ท่านเจ้าคุณเล่าว่าเจ้านาย แลพระเจ้าแผ่นดินเองก็เคยเสดจเยี่ยมชมไปถึง สิงคโปร นั่นเทียว เมื่อตอนกลับจากเยอรมนี ฉันได้เหนกับตาแล้วว่าเมืองปีนัง มะละกา นั้นดูเจรินหูเจรินตาทีเดียว เจ้านายท่านว่า ทางรถไฟในมลายูก็ทันสมัย ด้วยเมืองเหล่านี้ มีดีบุกอยู่มาก รังนก ก็มีมาก หลายครั้งที่ฝ่ายบริเตนสำรวจเส้นทางล้ำเข้ามาในอาณาเขตรสยาม เมื่อเหนอย่างนี้ เรียกได้ว่า หัวเมืองล้านนา ตวันตก แลมลายู ตกอยู่ในอันตรายเสียสิ้น แล้วเราจะรอดเงื้อมมือทั้งบริเตนแลฝรั่งเศสทางขวาไปได้อย่างไร


ฉบับใหม่


ก่อนที่ฉันจะต้องไปสำรวจเส้นทางวางรางรถไฟทางจากโคลาดไปเมืองอุบล จำปาศักดิ ท่านเจ้าคุณยนตรให้ฉันตามนายช่างเกียรสตไปดูงานตามเส้นทาง บ้านภาชี ลพบุรี ปากน้ำโพ เส้นทางนี้ตัดผ่านท้องนาที่ลุ่ม ปัญหาใหญ่คือ ต้องพูนดินขึ้นสูงให้พ้นน้ำ แต่นายช่างว่าช่วงน้ำหลาก บางช่วงก็ท่วมราง แลต้องอัดดินเติมตลอดเส้น อีกเรื่องที่เปนข้อขวางคือ แรงงาน ชาวสยามเราไม่ชอบงาน

อย่างนี้เลย ชอบแต่ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ตอนนี้ จึงต้องหาแรงงานจีนมาเพิ่ม แต่ส่วนใหญ่ชอบอยู่ทางหัวเมืองใต้ นายช่างเกียรสตได้กราบทูลเจ้านายทรงทราบ แลจะให้ท่านเจ้าเมืองทางชุมพร สงขลา ช่วยหาแรงงานจีนเข้ามาเพิ่ม ปากน้ำโพเป็นหัวเมืองใหญ่ มีทั้งซุงแลข้าวที่ล่องลงมากจากทางเมือง พิชัย ลับแล ท่าเสา ช่วงน้ำแล้ง ก็ขนส่งทางรถไฟได้ สดวกกว่าล่องทางน้ำมาก


ส่วนเส้นทางรถไฟไปมณฑลลาวกาว เรื่องน้ำท่วมรางไม่น่ากังวลนัก เพราะเป็นที่สูง เกรงจะแล้งเอาเสียมากกว่า ต้องเสาะหาแหล่งน้ำสำรับหัวรถจักร แลเชื้อฟืน นายช่างเกียรสตคาดเอาว่า เส้นทางนี้จะไม่คุ้ม เพราะมีผู้คนอยู่น้อย จะมีอยู่หนาตาก็แถบเมืองอุบล ทางเมืองจำปาศักดิยิ่งบางตา อีกทั้งน้ำโขง ยามน้ำหลาก ก็อาจท่วมทางรถไฟได้ นายช่างว่าไม่ควรวางรางใกล้แนวเขาดงเรกมากเกินไป ด้วยเกรงเรื่องไข้ป่า อยางที่เคยเจอกับมาหนักหนาแถบดงพญาไฟ


ฉบับใหม่

กลับมาสวรรคโลกคราวนี้ แม่พรรรณท้องใหญ่ นี่ เกือบ ๕ เดือนแล้วกระมัง แม่พรรณไม่เคยหยุดนิ่ง มักหาเรื่องอะไรต่อมิอะไรทำ ออกพรรษาแล้ว แม่พรรณก็ไปร่วมวงเย็บผ้ากฐินถวายพระที่วัดกลาง คนที่บ้านพลอยสนุกไปด้วย แม่พรรณรับเยบผ้าสบง จีวร ทำพุ่มดอกไม้ เอาฝีไม้ลายมือจากพระนครมาอวด แม่พรรณว่าคนธนบุรีใช้น้ำตาลมะพร้าวทำขนม ที่สวรรคโลกบ้านเรานี่ มะพร้าวมีน้อย คนใช้น้ำอ้อยกับเป็นส่วนมาก อย่างที่ใช้กวนกระยาสารทเดือน ๑๐ แม่พรรณก็ดัดแปลงเอาน้ำตาลอ้อยมาทำขนมเลี้ยงเดกๆ สนุกไปเสียอีก ทุกวันพระ แม่พรรณเจียนหมากพลู แลจัดสำรับเพลไปถวายหลวงพี่ทองคำที่วัดกลางไม่เคยขาด สักเดือนก่อน แม่พรรณแอบให้คนพาไปดูที่ทาง นั่งเกวียนไป ฉันนี่กลัวใจเหลือเกิน กำลังท้องไส้ เห็นว่าสวรรคโลกนี่แล้ง อยางนี่ ปลูกอ้อย ดีแล้ว แลหยากปลูกถั่วยี่สง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เพิ่มด้วย


วันก่อน ก็ตามคนไปเที่ยวแก่งหลวง ปลายปีน้ำยังมาก ก็กลัวจะตกน้ำไป


ฉันแลเหนว่าดินเมืองสวรรคโลกเรานี่ปลูกถั่วต่างๆ ได้ดี คงเปนเพราะเปนที่ดอนเสียมาก ไม่มีน้ำขัง พวกถั่วนี่แม่พรรณว่าทนแล้งดี เรื่องอันเปนการสนุกคือ แม่พรรณได้ลองทำน้ำเต้าหู้เอง สอาดกว่าพวกจีนที่ตลาดขาย หากให้หวานหน่อยแม่พรรณจะเติมน้ำตาลอ้อยลงไป เดกๆ แถวนั้นพากันชอบ พ่อแม่ก็มาขอไป บางคนก็ยากจน แม่พรรณได้เอาความรู้ที่เรียนจากหมอฝรั่งมาสอนให้ชาวบ้านดูแลบ้านเรือน ไม่ให้มีน้ำขัง การหุงต้มที่สอาด ดูหล่อนสนุกกับทุกเรื่องที่ทำ ไม่เคยดูแคลนว่ามาอยู่บ้านนอกบ้านนา แม่พรรณอยากไปเที่ยวดูบ้านเมืองแถบเมืองด้ง แลศรีพนมมาศ แลว่าคลอดลูกแล้วจะต้องไปให้ได้เทียว


ฉบับใหม่

เมื่อเดือนที่แล้วเกิดเรื่องปลาดอยู่อย่าง แม่พรรณวานคนขุดบ่อ ตั้งใจให้เปนที่พักน้ำไว้ใช้ยามแล้ง ยิ่งขุด แลเหนว่ามีน้ำผุดขึ้นมา คงเปนตาน้ำเปนมั่นคง เลยขอให้ขุดลึกเข้าไว้ก่อน ทำเป็นบ่อน้ำไว้ใช้ ผ่านไปสัก ๒ วัน น้ำเตมขึ้น เหนว่าใสมาก แต่แม่พรรณว่าจะต้องต้มให้เดือดก่อน แม่พรรณเน้นเรื่องความสอาดมาก ทั้ง เวจ ก็จะต้องอยู่ในที่ทางดี เตรียมทรายไว้กลบ ฉันก็เพิ่งเหนก็คราวนี้ คนในบ้านพากันสนุกไปกับแม่พรรณ ความหยากรู้หยากเหนของแม่พรรณ เธอเคยอาสาไปช่วยงานหมอฝรั่งที่ โรงหมอวังหลัง เธอเรียนรู้เรื่องความสอาด คอยกำกับให้บ่าวในเรือน เอาที่ฟูกที่นอนออกผึ่งแดด กับข้าว น้ำพริกอะไรต่างๆ นานา แม่พรรณบังคับให้ต้องใช้น้ำสุก ทำแค่พอกิน ไม่ให้ข้ามคืน อีกทั้งต้องมีผ้าขาวบางคลุมกั้น กับข้าวแห้ง ต้องมีคนนั่งรวังแมงต่างๆ แม่พรรณให้ต้มน้ำเกลือเกบไว้บ้วนปาก ทำความสอาดแผล ผักสดเกบมา กินไม่หมด ต้องรีบซาวเกลือ ดอง เกบไว้กิน เอาปนว่า วันหนึ่งๆ หมดไปไม่เคยเบื่อเลย


ภาพปราสาทเมืองแขกจากเพจอิสานร้อยแปด

32 views0 comments

Comments


bottom of page