top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย (๑๙) : ทางรถไฟสยาม (1)


“นวล ยุ่งอยู่ไหม มีอะไรให้ดู ผมให้เด็กนักศึกษาสแกนอยู่ เดี๋ยวผมส่งไปให้ดู” เสียงโทรศัพท์นัยน์ดังขึ้นแต่เช้า ขณะที่จันนวลกำลังดูนำ้ในคลองขึ้น ปลาเล็กปลาน้อยตามซอกหินริมเขื่อนยังคงไม่ไหวติง นิ่งรับแดดเช้าอยู่อย่างนั้น เทคโนโลยีทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในอดีตให้เป็นไปได้ในพริบตา ไม่นานนัก เอกสารที่นัยน์สแกน ก็มาถึง


“สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา” จิตร ภูมิศักดิ์ ชื่อผู้แต่ง คนรุ่นก่อนและรุ่นจันนวลรู้ดีว่าเขาคือนักคิดเรียกร้องความเสมอภาค และในอีกด้านหนึ่ง ท่านคือปราชญ์ทางด้านไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเลยทีเดียว


“ไงนวล อ่านหรือยัง” นัยน์เรียกสายมาอีกครั้ง


“แน่นอน ตื่นเต้นทีเดียว ความคิดเห็นของท่านตรงกับที่ฉันคิดคือ เมืองราด น่าจะมีศักดิศรีเหนือกว่าขณะที่แรกสถาปนาแคว้น และการที่พ่อขุนผาเมืองมีชายาเป็นเจ้าหญิงเขมรนี่ถือว่ายิ่งพิเศษ เป็นการกินดอง หรือการยอมรับอำนาจเขมรที่นครธม” จันนวลทวนความพร้อมทั้งเล่าให้นัยน์ฟังว่าเพิ่งกลับจากโคราช


“เธอนี่มันแน่จริงๆ บทจะไปต้องไปให้ได้”


“แน่ล่ะ ต้องให้เห็นกับตาว่ามีความเป็นไปได้จริงๆ เรื่องเส้นทางจาก เมืองโคราชเก่าที่สูงเนิน ผ่านเมืองเพชรบูรณ์ขึ้นไป พิษณุโลก ข้ามแม่น้ำน่าน ไปสุโขทัย ฉันไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะไม่มีความจำเป็นต้องเดินไปไกลถึงอุตรดิตถ์ นายศรี อดีตพรานบอกว่าเลยวิเชียรบุรีขึ้นไปหน่อย มีทางเกวียนแยกซ้ายไปเข้าพิจิตรได้ แถวบางมูลนาก ตรงนี้ล่องน้ำน่านขึ้นไปไม่ง่ายกว่าหรือ”


“ก็จริงนะนวล แหมเดี่ยวนี้ดูทิศดูทางเก่งแล้วนะ”


“ไม่เก่งหรอก ทาง UNESCO เร่งงานมาแล้ว แต่เรื่องชื่อเมืองสินัยน์ น่าตื่นเต้นมาก อ. จิตร บอกว่าทางเขมรเรียกเมืองโคราช ว่า นครราช คำนี้ ออกเสียงเป็น อองโกเรียช จริงๆ ในภาษาเขมร ตอนนั้นเขมรมีอิทธิพลเหนือกว่า เราก็เรียกตามคำเขมรว่า โคราช ออกเป็น สระ า ใช้กับ ร ออกเสียงเป็น เีย ในเขมร”


“แหม ฉันน่าจะเก่งภาษาอย่างเธอนะ ช่วยตีอะไรได้แตกจริงๆ”


นานๆ จะมีวันว่างสักครั้ง จันนวลไม่อยากออกไปไหน ใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือสลับกันบันทึกท่านเจ้าคุณใหญ่ พระยาสวรรครักษราชโยธา



ฉบับใหม่


ระเบียบมณฑลเทศาภิบาลพิษณุโลกยนี้ ดูเริ่มเปนรูปร่างขึ้นมาก ท่านข้าหลวงฯได้จัดแบ่งออกเปนเมืองแลอำเภอย่อยลงไป เพื่อสดวกในการเกณฑแรงงาน มาเดี๋ยวนี้เหนได้ว่ามีคนสมัคเข้าเปนทหารกันมากขึ้น กรมยุทธนาธิการเองก็สนับสนุนให้ไพร่แต่เดิมมาเข้าฝึกการทหาร ด้วยบ้านเมืองยังไม่สงบดี มีภัยรอบด้าน มีหนังสือจากท่านเจ้าคุณยนตรว่า นายช่างเบทเกอ เสนอทางรถไฟที่จะตัดขึ้นมา แลอาจไปถึงล้านนา เชียงใหม่ ๓ ทางให้เลือก เส้น ๑ ออกจากบ้านภาชี ขึ้นไปเมืองลพบุรี ปากน้ำโพ กำแพงเพชร ระแหง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงแสน อีกเส้น ๑ ก็แลคล้ายกันเหนว่าจะเข้าลำพูนก่อน จึงตัดไปเชียงใหม่ อีกเส้น ๑ จากปากน้ำโพ จะออกมาทาง ชุมแสง เมืองพิจิตร เมืองพระพิศณุโลกย พิชัย ท่าเสา แพร่ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงแสน เส้นที่ ๓ นี่ ต้องข้ามภูเขาหลายคราวอยู่ ดูจะแพงมาก แต่เจ้านายท่านว่า เมืองพระพิศณุโลกย พิชัย ลับแล ท่าเสา นี่มีผู้คนมาก แลผลผลิตข้าวก็ดี การค้าอยู่ข้างเจริน หากมีทางรถไฟผ่านก็จะยิ่งทำให้ขนส่งได้เรว มีเงินพอที่สะสมไว้สร้างทางรถไฟต่อไป อีกข้อ ๑ คือ การสร้างทางรถไฟค่อนไปทางเมืองระแหงนั้น ดูหมิ่นอยู่ว่าข้างบริเตนอาจไม่พอใจ เพราะเหนว่าเราตัดหน้าชิงเอาสินค้าจากล้านนาลงมาพระนคร เปนการขัดประโยชนข้างเขา แลอาจหาเรื่องเราเข้ายึดสยามได้ อีกทั้งฝ่ายบริเตนอาจสร้างทางรถไฟมาที่ระแหง แล้วพาเอาสินค้าสยามเราออกไปทางเมืองมะละแหม่งได้ ใจฉันชอบเส้นที่ ๓ ด้วยอยู่ห่างจากบริเตน แต่ก็ติดว่าต้นทุนสูงอยู่มาก อยากรู้จริงว่าใต้ฝ่าพระบาทจะเลือกเอาเส้นไหน



เมษายน ๒๔๔๗


ปีใหม่ไม่กี่วัน แม่พรรณก็คลอด ฉันตั้งใจกลับมาตามเวลาที่กะกันไว้ว่าแม่พรรณจะคลอด ฉันดีใจเหลือเกิน แม่พรรณคลอดลูกชาย ตัวใหญ่น่าเกลียดน่าชัง ฉันเหนแล้ว ไม่กล้าอุ้ม เพราะกลัวจะทำลูกหล่น ตาแดง เดกเกิดใหม่ใครๆ ก็เรียก ตาแดง พ้น ๑๐ วัน หลวงพี่ทองคำว่ามันไม่ตายแล้ว ตั้งชื่อว่า แสง เพราะเกิดตอนเดือน ๕ ร้อนเหลือเกินจะทน แต่ก็เปนความสว่าง


ฉันสัญญากับแม่พรรณว่าจะกลับมาให้ถี่กว่าเดิม แต่ข้อราชการก็มากเหลือเกิน อีกไม่กี่วันก็ต้องลงไปพระนคร มีหมายเรียกให้เข้าเฝ้าฯ ในการคราวพระราชพิธีทรงกรม สมเดจพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลยนฤมลฯ ทรงรับกรมขุนสวรรคโลกสรรพสกนธิกัลยาณี ท่านเจ้าคุณยนตรว่า เปนคนสวรรคโลกต้องไปเข้าเฝ้าด้วย เผื่อจ้าวนายท่านเรียนใช้สรอย



พฤษภาคม ๒๔๔๗


วันนี้ไม่ทันย่ำรุ่งดี ก็ตื่นด้วยต้องไปตระเตรียมการในพระราชพิธีทรงกรมฯ สมเดจพระเจ้าลูกเธอ ในงานพระราชพิธี เจ้านายหลายพระองค์ได้เข้ามากล่าวอำลา นายช่างเกียรส ที่จะเดินทางกลับเยอรมนี นายช่างเองรับราชการเจ้ากรมรถไฟมานาน แลอยากได้พักผ่อนบ้าง หากมีโอกาสก็จะกลับมาเยี่ยมเยือนสยามอีก แลอีกไม่กี่วัน เจ้ากรมคนใหม่ก็จะเดินทางมาถึง นายช่าง ลูอิส ไวเลอร์ ฉันเคยได้พบนายช่างลูอิส เมื่อก่อนไปเยอรมนี ตอนนั้นฉันเปนลูกหาบตามนายช่างเกียรสไปตรวจงานทางรถไฟแถวอยุธยา แต่ก็ไม่เคยได้พูดคุยด้วย จนเมื่อไปเรียนการรถไฟที่เยอรมนี นายช่างลูอิส มารอรับที่สถานีรถไฟ มิวนิค แลพาฉันไปเข้าเรียนภาษาเยอรมันกับครอบครัวหนึ่ง อยู่กินแลเรียนจนเขียนอ่านได้ จึงเริ่มไปเข้าเรียนในการซ่อมบำรุงราง การวางราง การรังวัดสำรวจ นายช่างเปนคนเอาจริงเอาจังกับงานมาก แลช่างจดจำรายละเอียด นายช่างว่าการทำงานรถไฟ จักต้องสังเกตธรรมชาติรอบตัว ลม น้ำ แสง ไปทางไหน


8 สิงหาคม ตาม พระยายนตรจักรราชกิจ นายช่างเกียรสต ไปเข้าเฝ้าฯ ที่บางปอิน


ระยะนี้ ฉันลงมาทำราชการที่พระนครเสียมาก เลยไม่ใคร่จะมีเวลาไปอยู่ดูแลแม่พรรณกับลูก เมียทหารก็แบบนี้ ต้องอดทนเหลือเกิน เมื่อ ๒ วันก่อน ฉันตามเจ้าคุณยนตรฯแลนายช่างลูอิสไปบางปอิน เพื่อรอรับเสดจพระเจ้าแผ่นดิน ฉันยืนอยู่แถวหลังด้วยเปนผู้น้อย เพิ่งเข้ารับราชการได้ไม่นาน วันนี้ จ้าวนายเสดจมากันหลายพระองค์ เท่าที่ฉันจำได้ก็มี สมเดจกรมหลวงนริศรานิวัดติวงศ์ แลสมเดจกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ทั้ง ๒ พระองค์ทรงเปนเสนาบดีหลักของสยาม เสรจจากการส่งเสดจฯ พระเจ้าแผ่นดินแลพระบรมวงศกลับยังพระนคร นายช่างลูอิส เล่าให้ฟังว่าพระเจ้าแผ่นดินท่านทรงมีดำริจะสร้างทางรถไฟออกไปทางเมืองแปดริ้ว แต่ก็ทรงเหนว่าสายเหนือที่จะขึ้นไปเมืองเชียงใหม่นั้น เร่งด่วน กว่ามาก ฟังความดูแล้ว ทางรถไฟสายโคลาด ขึ้นไปมณฑลลาวพวน ออกไปลาวกาว แลเมืองแปดริ้วนี้ ก็คงงเพราะกังวลเรื่องฝรั่งเศส จะเข้ายึดเอาฝั่งขวาแม่น้ำโขงอีกเปนมั่นคง ฉันเองยังไม่เคยได้ไปเมืองแปดริ้ว แต่เส้นทางไปลาวกาวนั้น เหนว่าน่าจะปลอดภัยจากอำนาจฝรั่งเศส ด้วยมีแนวพนมดงเรกกั้นอยู่ การจะเข้ายึดข้ามเขานั้นดูจะยากอยู่ไม่น้อย แต่ก็คงจะประมาทไม่ได้ อีกข้อหนึ่งคือเรื่องทุนรอน สยามมีรายได้หลักจากข้าว แลภาษีฝิ่น บ่อนเบี้ย ซึ่งฉันเหนว่าเปนเงินบาป ชาวสยามอย่างเราๆ ว่างนักก็จับกลุ่มเล่นพนันขันต่อ เข้าบ่อน พวกเจ้าภาษีนายอากรก็ร่ำรวยไป การเปนเช่นนี้ จะพัฒนาบ้านเมืองไปได้อย่างไร



พย 2447 หาจุดข้ามแม่น้ำน่าน ทางรถไฟสายปากน้ำโพ อุตรดิฐ


นายช่างลูอิส เหนด้วยในข้อที่ว่าทางรถไฟสายเหนือควรหลีกมาทางตวันออกให้ไกลจากอิทธพลของบริเตน ข้อนี้ฉันเหนว่านายช่างไม่ต้องการปะทะกับฝ่ายบริเตน แลพวกเยอรมันเองก็ดูจะไม่ชอบสายตาของฝั่งบริเตนอยู่มาก สายเหนือนี้ จะสร้างต่อจากปากน้ำโพ ผ่านเมืองพิจิตร บางมูลนาก เมืองพระพิศณุโลกย พิชัย ท่าอิฐ ท่าเสา เมืองท่าอิฐ ท่าเสา การค้าขายคึกคักมากเหลือเกิน เรือสินค้าจากพระนครขึ้นไปเยอะมากทีเดียว ขบวนพ่อค้าม้าต่างจากหลวงพระบาง เลย ข้ามมาก็ไม่น้อย มีของป่า เกลือ ผ้างามๆ เตมไป เหนแล้วก็อยากจะพาแม่พรรณมาเที่ยวเล่น หน้าที่ของฉันคือ ดูแลจัดการแรงงาน จีน แขก ที่จัดหามาให้อยู่เป็นระเบียบ เหนว่าคราวนี้ได้แรงงานมาจากทางหัวเมืองลาวกาวด้วย


แม่น้ำน่านคราวแล้งกับคราวฝนรดับน้ำต่างกันมาก คราวน้ำหลาก น้ำแรง กว้างสุดหูตา ข้อนี้ ทำให้นายช่างลูอิสคิดหนักทีเดียวว่าจะสร้างสพานข้ามไปอย่างไร หากข้ามจุดนี้ไปได้ ก็เรียกว่าประชิดแดนล้านนาเลยทีเดียว แต่ก็ยังมีอุปสัคอีกคือ เขาต่างๆ ที่เมืองแพร่ เมืองลอง อีก



15 views0 comments

Opmerkingen


bottom of page