top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย (๑๙) : ทางรถไฟสยาม (2)



แม่น้ำน่านคราวแล้งกับคราวฝนรดับน้ำต่างกันมาก คราวน้ำหลาก น้ำแรง กว้างสุดหูตา ข้อนี้ ทำให้นายช่างลูอิสคิดหนักทีเดียวว่าจะสร้างสพานข้ามไปอย่างไร หากข้ามจุดนี้ไปได้ ก็เรียกว่าประชิดแดนล้านนาเลยทีเดียว แต่ก็ยังมีอุปสัคอีกคือ เขาต่างๆ ที่เมืองแพร่ เมืองลอง อีก


สิงหาคม 2448


ปัญหาใหญ่ในการวางรางรถไฟจากปากน้ำโพขึ้นไปเมืองท่าอิฐ ท่าเสา แลต้องผ่านเมืองพระพิษณุโลกยนี้ คือเรื่อง ที่ลุ่ม ยามน้ำหลาก ที่ดินเหล่านี้จะกลายเปนเวิ้งน้ำใหญ่มองไม่เหนตลิ่งเลยทีเดียว งานหนักคือ อัดดินให้แน่น แลพูนดินให้สูงขึ้น อัดด้วยหินต่อยเปนก้อนอีกครั้งหนึ่ง ทั้งหมดใช้เวลามาก หากเปนช่วงน้ำหลากนี่ แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยทีเดียว ดีก็ขนส่งสดวกมากขึ้น จะขนอะไรก็ต้องรอช่วงน้ำหลากนี่ นายช่างว่า จะขนหินมากจากแถบเมืองโคลาดทางรถไฟนี่ล่ะ เพราะแถบ ดงพญาไฟ โคลาด มีหินที่ต่อยไว้อยู่มาก


เจ้าแสงได้ขวบกว่าแล้ว ดูแม่พรรณสนุกกับการเลี้ยงลูก แลงานต่างๆ ในบ้าน วันก่อนภรรยานายช่างลูอิส ฝากแป้งสาลีมาให้ แม่พรรณดีใจดังได้แก้ว สั่งให้คนในบ้านลองทำเตาอบ แบบเตาสังคโลก เป็นเตาดินย่อมๆ เอาฟืนสุมทั้งบนล่าง แลใช้ฝาไม้เปนประตู หัวร่องอหงายกันทั้งบ้าน ลูกหมากลูกไม้อะไรๆ กินกันไม่ทัน แม่พรรณก็จับดองเสียหมด หรือไม่ก็กวน แม่พรรณว่า หัวผักกาด ขิง ดอกด้วยน้ำตาลอ้อยกับน้ำส้ม รสดีมาก หวานเปรี้ยวนวลๆ


ช่วงก่อนมีคนเอาทุเรียนทางเมืองพิชัย ลับแล มาให้มากโขอยู่ แม่พรรณก็กวนเกบไว้ นี่จะไปขายที่ตลาด พ่อกับแม่ก็ห้ามไว้ เพราะจะขายหน้าฉัน เปนทหารทำราชการ ปล่อยให้เมียลำบากตากหน้าขายของ แม่พรรณไม่ยอมท่าเดียว บอกว่าไม่ได้ลักของกิน กลัวอะไรขี้ปากคน...



พลาง จันนวลคิดถึงตอนที่นั่งรถไฟขึ้นไปสวรรคโลกกับกลุ่มของนัยน์ รถไฟ ระบบขนส่งที่ดูจะล้าสมัย ไม่ทันโลกทันการณ์นี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายบ้านเมือง ขยับซ้ายที่ก็มีจักรวรรดิอังกฤษ ขยับขวาทีก็เจอยักษ์ใหญ่อย่างฝรั่งเศส การก่อสร้างวางรางก็แสนยากเย็น


พลางคิด ‘คุณทวดคงจะเสียใจหากมาเหนว่ากิจการรถไฟไทยซบเซาเพียงใด แต่ข้อที่อาจจะทำให้คุณทวดดีใจ คือ รถไฟก็ยังเป็นที่พึ่งของคนจนได้เสมอ และสามารถไปได้ทั่วทุกภาค ให้ประเทศไทย หรือสยามของคุณทวด’


ใจของจันนวลอยากจะนั่งรถไฟอีกสักครั้งให้ถึงบ้านที่สวรรคโลก อยากจะเห็นกับตาว่า น้ำหลาก เป็นยังไง ตอนนี้ก็เป็นช่วงฝนแล้วด้วย และอยากเห็นแม่น้ำน่าน ตรงจุดข้ามตามที่เขียนบันทึกเสียจริง อยากเห็นว่าน้ำหลาก จะเป็นอย่างไร ดงพญาไฟก็ไปมาแล้ว ร่องรอยไข้ป่าความเป็นความตายในอดีตมองไม่เห็นเลย หากไม่ได้อ่านบันทึก ก็ยังจะคิดว่าป่าดงพญาไฟร่มรื่น น่าไปปิกนิก


‘คุณย่าทวด’ คุณหญิงพรรณ น่าจะหมายถึง คุณหญิงใหญ่ที่แม่ลำพาเคยพูดถึง เมื่อตอนขึ้นไปบนตึกใหญ่เคยได้เห็นภาพ ผู้หญิงสูงวัยอยู่ 2 - 3 คน แต่ก็จำไม่ได้แน่ว่าใครเป็นใคร กลับไปคราวหน้าจะต้องขึ้นไปดูอีกครั้ง แม่พรรณ ของคุณทวดช่างทันสมัยไม่กลัวใคร ซ้ำยังชอบเล่นอะไรสนุกๆ อยากบอกท่านเหลือเกินว่า กับข้าวกับปลาเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา คนในบ้านสวรรคโยธิน ก็ยังกินอยู่กันแบบเดิม เป็นบุญแท้ๆ ที่ไม่ต้องกินอาหารที่มีแต่ผงปรุงรส


เที่ยวบินบ่ายมาถึงสนามบินสุโขทัยเรียบร้อย ออกมารอรับกระเป๋าพร้อมข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นจากกรุงเทพ จันนวลชะเง้อหานายมั่น


“ทางนี้ครับ” เสียงกรัน แววตาหนุ่มใหญ่แม้จะดูนิ่งๆ แต่ก็ไม่ได้ซ่อนความรู้สึกอีกเช่นเคย


“อ้าวคุณกรัน แล้วพี่มั่นล่ะคะ”


“ผมอาสามาเอง อยากมาดูคนเบี้ยวสัญญา กลับช้าไปตั้ง 2 อาทิตย์กว่า”


จันนวลนิ่งไป เพิ่งนึกได้ว่าเคยบอกอะไรกรันไว้ พลางเดินเข้าไปเกาะแขน ขอโทษที่กลับมาช้า เพราะการค้นคว้าหาข้อมูลซับซ้อนกว่าที่คิดไว้ ‘เมื่อฝ่ายหนึ่งเผยความรู้สึก จันนวลก็ไม่ปิดบัง เธอรู้สึกไว้ใจ กรัน มากพอ จะด้วยอะไรก็ตาม’


กรัน ยิ้มด้วยตา พลางช่วยจันนวลขนของต่างๆ ขึ้นรถ แก้เขิน เขาไม่รู้ว่าวันต่อไปจะเป็นอย่างไร แต่ ณ วันนี้ เขามีความสุขที่ได้อยู่ใกล้


คนที่บ้านสวรรคโยธินมารอยืนต้อนรับราวกับว่าเพิ่งกลับจากต่างประเทศจนจันนวลแซว “แหม หนูไม่ใช่คุณพ่อ แม่ทัพภาค 3 พลโท ขวัญสรวง สวรรคโยธิน นะคะ ไม่ต้องยืนเรียงแถวต้อนรับแบบนี้ก็ได้ เขินตาย”


ทุกคนหัวเราะครื้นเครง วางของเสร็จ กรันเอ่ย


“คุณนวลครับ ไปดูอะไรกัน” กรันเดินแนบจันนวลทั้งประคองแขน คนในบ้านเห็นความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปของทั้ง 2 คน แต่ก็ได้แต่ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่


โรงหีบอ้อยดูสอาดตา โปร่งโล่ง เมื่อหน้าต่างบานกระทุ้งเบิกกว้าง ประตูบานเฟี้ยมพับเก็บเรียบร้อย โม่หินตัวเขื่องวางอยู่เคียงตั่งไม้ เครื่องหีบอ้อยเลื่อนไปตั้งอยู่ข้างหลังโรงหีบ เพราะต้องมีพื้นที่ให้คนเดินวน


“ผมลองถามชาวบ้านแถวนี้ สมัยก่อนใช้คนเดินวนหมุนตัวหีบนี้ ต้องมีสัก 3 คน สลับกัน หรืออาจใช้ควายก็ได้ ครับ” กรันบอก


“โอย คลาสสิกจัง เหมือน Atelier ในฝรั่งเศสเลย นวลมีห้องทำงานใหม่อีกห้องแล้ว”


“หา คุณนวลจะทำอะไร”


“อยากลองหีบอ้อยดู ไม่อย่างนั้นไม่ให้คุณช่วยหรอก แหม ซ่อมแล้วต้องใช้งานจริงๆ ค่ะ น้ำตาลอ้อย หรือ น้ำตาลมะพร้าวเป็นน้ำตาลธรรมชาติ กินพอเหมาะจะเป็นยา เพื่อนที่ทำยาโบราณอยากได้น้ำตาลอ้อยสอาดๆ กันมากค่ะ...​

โม่หินนี้ ใช้บดข้าว ทำแป้งข้าวจ้าว ข้าวเหนียวได้”


จันนวลโพล่งถามออกไป “ควายนี่เลี้ยงยากไหมคะ กรัน”


“หา อะไรนะ ควายน่ะหรือครับ มันก็ไม่ยาก แต่ก็ต้องมีคนดูแล พี่มั่นไงครับ นั่นมือหนึ่งเลี้ยงควายเลย”


“พื้นที่บ้านกว้างขวาง ขนาดนี้ เลี้ยงควายสักตัวสองตัวเป็นไรไป”


นายมั่นหัวเราะร่วน เมื่อได้ยินความคิดจันนวล “มีครับ เพื่อนผมมันทำงานอยู่โครงการเกษตรที่สนามบิน มันก็ความเผือกแม่ลูกของมันเอง ตอนนี้มีลูกหลายตัวอยู่ มันอยากเพาะให้ได้ตัวเขางามๆ เดี๋ยวผมลองถามดูว่ามันจะขายสักเท่าไร


กรันเดินมาส่งจันนวลขึ้นเรือน พลางบอก “พรุ่งนี้ผมมาทานมื้อเช้าด้วยได้ไหม”


จันนวลตอบรับไปด้วยความยินดี “กินเท่าที่มีนะคะ เพราะยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี”


ก่อนขึ้นเรือน จันนวลถามแม่ลำพา “แม่ลำพาค่ะ หนูอยากขึ้นไปบนตึกใหญ่ สักหัวค่ำก็ได้ค่ะ อยากไปดูหนังสือของคุณทวดหน่อย เออ... มีห้องไหนบนตึกใหญ่พอจะนอนได้ไหมคะ ตั้งใจไว้นานแล้ว”


“ห้องคุณหญิงวาดน่าจะดีกว่า เพราะลมโกรก และไม่เก่ามาก ห้องคุณหญิงพรรณไม่มีมุ้งค่ะ ยังไม่ได้ตัด โครงเตียงผุแล้ว เดี๋ยวป้าให้ไอ้มั่นขึ้นไปทำความสอาดอีกรอบนะคะ”


เรือนแบบยุโรปกึ่งตึกกึ่งไม้เรียบง่าย เมื่อเปิดหน้าต่างๆ ดวงโคมต่างๆ ก็ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที จันนวลเดินขึ้นบนตึก รูปพระยาสวรรครักษราชโยธายืนสง่าคู่กับคุณหญิงสวรรครักษราชโยธา (พรรณ) ดูสง่าน่าเกรงขาม เมื่อได้อ่านที่คุณทวดบันทึกไว้ ทำให้เห็นว่าคุณย่าทวดมีแววตาออกขี้เล่น แต่ก็มุ่งมั่นอยู่ในที ภาพถ่ายโบราณต่างๆ ที่ก่อนหน้า จันนวลไม่รู้จักแม้คนเดียว ตอนนี้ก็ได้รู้แล้วว่า ภาพสตรีดวงตาโตที่อยู่เคียงค่อนต่ำลงมาจากพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลยนฤมล สรรพสกนธกัลยาณี กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี คงเป็นภาพพระราชทานลงมา เพราะมีลายพระนามกำกับอยู่ ภาพหัวรถจักรต่างๆ และสะพานเหล็กขนาดใหญ่ ‘นี่คงเป็นสะพานเหล็กที่ข้ามแม่น้ำน่านในบันทึกเขียนไว้แน่ๆ โอย สวยจัง ต้องไป ๆ’ ตัวหนังสือที่โครงสะพานะเลือนๆ “ปรมินทร์”


จันนวลไล่อ่านชื่อหนังสือ ตำรับตำราต่างๆ ในตู้กระบกบางแม้จะขุ่นไปบ้าง แต่ก็พอจะเดาได้ว่าเป็นกระจกคุณภาพดี เสียงใสเหมือนระฆัง ตำราส่วนใหญ่เป็นแบบหัวรถจักรต่างๆ ตู้รถไฟ ล้อเลื่อนขนาดต่างๆ สุมดเล่มโต เมื่อดึงออกมาเป็นสมุดภาพชนิดติดกับแผ่นกระดาษ ภาพวิถีชีวิตต่างๆ ในสวรรคโลกเรียงรายต่อหน้าจันนวล น้ำยมที่แห้งขอดซุงกองเรียงรายอยู่ข้างหาด ภาพคนทำท่อนหีบอ้อย กองอ้อย เด็กๆ คนหุงหาอาหาร สารพัดชีวิต รางรถไฟ ตู้รถไฟที่อัดแน่นด้วยคน ต่างยิ้มแย้มหัวเราะกัน ‘ความสุขของคนโบราณช่างเรียบง่าย’


จันนวลเดินไปหอพระ ผ่านท่านฤาษี 2 องค์ ที่ยิ้มต้อนรับจันนวล “ปู่สัชชนาไลย” และ “ปู่สิทธิมงคล” กลิ่นดอกแก้วบนพานส่งกลิ่นหอม มะลิร้อยเรียงง่ายๆ ม้วนขดซ้อนบนพาน จันนวลกราบพระ สวดพระพุทธมนต์ บทอิติปิโส สรรคุณพระรัตนตรัย กลิ่นธูปควันเทียนลอยขึ้นออกทางหน้าต่าง แปลกที่ยุงไม่มีแม้ตัวเดียว


เตียงไม้สักขึ้นโครงเสา 4 มุมยังคงแข็งแรง แม่ลำพาขึงมุ้งเข้ากับโครงเรียบร้อย หัวเตียงยังมีตู้เล็กๆ บานกระจกสีเลื่อนปิดเปิดได้ เมื่อล้มลงนอน สังเกตเห็นว่าแผ่นไม้ในช่องเก็บของหัวเตียงเผยอขึ้น จันนวลพยายมจับให้เข้าที่ แต่แผ่นไม้กลับตกลงไป แต่ด้วยความง่วงงุน ‘พรุ่งนี้ค่อยเก็บแล้วกัน’

15 views0 comments

Komentáře


bottom of page