top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย (๒๐) : สวรรคโลก Atelier (1)



ตอนที่ 20


ย่ำรุ่ง ฝนตกแม้ไม่หนักมาก แต่ก็ปลุกจันนวลให้ลุกขึ้น ล้างหน้าล้างตา จัดเตียงให้เรียบร้อย พลางนึกได้ว่าแผ่นไม้ที่หัวเตียงร่วงลงไป จันนวลล้วงไปหยิบแผ่นไม้ แต่มือกับไปถูกสิ่งหนึ่งเย็นๆ คล้ายโลหะ คลำดูแล้วเป็นกล่องยาวๆ ไม่หนักมาก เพราะเลื่อนได้ สำคัญมีมากกว่า 1 กล่อง จันนวลค่อยๆ หยิบขึ้นมาได้ 3 กล่อง และคิดขึ้นได้ทันว่า


“เมื่อเจอวัตถุโบราณที่ปิดไว้ อย่าเปิดทันที อย่างน้อยควรมี แอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ เช็ดภายนอกก่อน ถุงมือ แว่นตากันฝุ่น หน้ากากอนามัย” ข้อควรระวังเมื่อคราวไปอบรมการสำรวจแหล่งโบราณที่เมือง Leibzig จันนวลยังจำได้ดี และเลือกที่จะปล่อยทิ้งไว้แบบนั้น จนกว่าจะหาอุปกรณ์ต่างๆ ได้พร้อม ดึงแผ่นไม้ขึ้นมาปิดตามเดิม


แต่งตัวเสร็จ จันนวลลงมาเตรียมอาหารเช้า ข้าวสารสวรรคโลกเม็ดเรียวซาวสอาด แช่น้ำไว้สักชั่วโมง ใส่รากผักชี กระเทียม พริกไท ตำลงผัดให้หอม กุ้งตัวโตต้มไว้ก่อน พร้อมน้ำมันกุ้ง ตักลงไป รอให้เดือดอีกครั้ง โรยหน้าด้วยหอมเจียว ตักเสิร์ฟได้


“ป้าไม่เคยรู้ว่าคุณหนูทำกับข้าวได้ขนาดนี้ น่ากินอีกต่างหาก” แม่ลำพา แปลกใจ


“ทำได้ค่ะ อยู่ต่างประเทศก็ต้องทำกินเองตลอดค่ะ เบื่อตายอาหารฝรั่ง เดี๋ยวทานด้วยกันคะ หนูทำเผื่อไว้ทานทุกคน เพียงจะให้อร่อย เราปรุงที่ละชาม”


กรัน นั่งรออยู่ที่ชานเรือน อย่างที่ฝรั่งเรกกันว่า verandah จันนวลยิ้มรับ และเรียงวางของเช้าให้กรัน ข้าวต้มกุ้งชามโต พร้อมเครื่องเคียง ผักโรย ชามสังคโลกสีเขียวไข่กาเก่าคร่ำ ตัดสีขาวและส้มของตัวกุ้งดูสวยแปลกตา ขนมปังเสี้ยวเดือนที่แม่ลำพาเรียกยังอบร้อนอยู่พร้อมเสิร์ฟต่อจากข้าวต้ม


“ไม่พาหนูบัวมาด้วยคะ กรัน”


“ยังเล็กอยู่ คงทานกับข้าวผู้ใหญ่ไม่เป็นครับ เลยให้แม่บ้านทำข้าวเด็กให้กิน”


กรัน กินข้าวต้มอย่างเอร็ดอร่อย จนจันนวลไปทำเพิ่มให้ “ขอไม่เกรงใจนะครับ อร่อยจริงๆ ไม่เคยกินข้าวต้มเครื่องอร่อยแบบนี่มาก่อน”


“ตามสบายเลยค่ะ ทำไว้พอทุกคนกิน 2 ชาม


มื้อเช้า จันนวลชอบอย่างฝรั่ง ขนมปังเนื้อดี เนยหอม ให้พลังงานได้มาก ข้าวต้มกับเหมาะกับมื้อกลางวันมากกว่า กรันลอบมองจันนวลขณะ บิขนมปังเป็นชิ้นเล็ก มือปาดเนย แยมส้มเนื้อดี ซึ่งคงจะซื้อติดมาจากกรุงเทพ เพราะในสวรรคโลกยังไม่มีห้างใหญ่พอที่จะรับสินค้าเหล่านี้มาขาย จันนวลดูทมัดทแมง ไม่มีจริตเขินอาย ด้วยวัยใกล้ 40 ผ่านร้อนหนาวมาพอตัว ไม่มีอะไรต้องหวั่นเกรง

เสร็จมื้อเช้า กรันต้องมี กาแฟดำแก้วโตในมือ กลิ่น eau de cologne ของจันนวล ติดจมูกกรัน ขณะเข้าใกล้


“คุณนวลครับ ไปดูอะไรกันดีกว่า”


กรันพูดพลางนำทางไปโรงหีบอ้อย บานประตูเฟี้ยมไม้สักเก่า เปิดออกพับเป็นชั้นออก 2 ด้าน หน้าต่าง บานกระทุ้งเบิกกว้าง ทั้ง 3 ด้าน ลมโกรกสบายตัว นายมั่นเลื่อนเครื่องหีบอ้อยออกมา


“สวยจังเลยค่ะ กรัน” เครื่องหีบอ้อย 2 ตัว กลับคืนชีวิตอีกครั้ง จันนวลลูบเนื้อไม้ เนียนมือไม่มีเสี้ยนสักนิด


“2 ตัวนี้จะร้อยปีแล้วมังครับคุณหนู ตัวใหญ่สีซีดนั่น น่าจะของคุณหญิงพรรณ ตัวเล็กกว่าของคุณหญิงวาด เนื้อไม้ออกจะใหม่กว่าด้วย


“ผมประสานเนื้อไม้ใหม่เข้าไปชันยาไว้ ขัดเรียบอีกที นายมั่นช่วยผมได้มาก”


“แล้วนี่ มีกลไกยังไงล่ะคะนี่”


นายมั่นอธิบายกลไกที่ลูกหีบหมุนสบเฟืองกัน ทำให้แกนลูกหีบทั้งสามตัวบีบน้ำอ้อยออกมาได้และใช้วัวควายในการเดินหีบ


“เอ แล้วนี่เราจะไปหาควายจากที่ไหนล่ะนี่ เดี๋ยวนี้ใครเขายังใช้ควายทำไร่ไถนาอยู่ ถึงขนาดต้องมีโรงเรียนสอนควายกันเลยนะ” จันนวลครุ่นคิด


“อย่างที่บอกคุณหนูไว้ เพื่อนผมทำงานในโครงการเกษตรตรงสนามบิน เมื่อปีกลายแม่ควายตกลูกมา 2 ตัว ทางโครงการยกให้ เดี๋ยวผมจะไปขอมันมาเลี้ยง แล้วให้เดินหีบดู”


“รบกวนพี่มั่นด้วยนะคะ นวลอยากเห็นโรงหีบอ้อยกลับมามีชีวิตอีกครั้งหากยังทำได้จริง นี่ถือว่าเป็นน้ำตาลอ้อยออร์แกนิคเลยนะคะ เดี๋ยวนี้เขานิยมกันจังจริงๆ แล้วทุกอย่างมันควรจะออร์แกนิคนะ กรันว่าไหม”


“จริงครับ แต่ออร์แกนิคมันผลิตเอารวยไมได้ ได้แค่พอกินพอใช้ ว่าแต่วันนี้คุณนวลจะไปไหนหรือเปล่าครับ”


จันนวลสัมผัสแกนลูกหีบอย่างอ่อนโยน พยายามจินตนาการถึงคุณย่าและคุณย่าทวดว่าใช้ชีวิตกันอย่างไร ทุกอย่างดูละเมียดละไมไปเสียหมด โม่หินบนขาตั้งไม้ ดูสง่างามท้าเวลา ไม่แยแสว่าโลกจะหมุนเร็วเท่าไร แต่โม่หินตัวนี้ยังหนักแน่น ไม่สึกหรอไปตามเวลา


“นวลจำได้ว่าเคยเห็นแม่ใช้ แต่ไม่รู้ทำอะไร เด็กๆ ชอบมาหมุนเล่น”


“ค่ะ คงต้มน้ำเต้าหู้ คุณหอมท่านต้มน้ำเต้าหู้อร่อย ไม่ใสแจ๋วแบบที่ขายเดี๋ยวนี้ ท่านจะเคี่ยวน้ำตาลอ้อยไว้หยอดเวลากิน หวานมัน ใครได้กินติดใจทุกคน ท่านว่าเป็นสูตรสอนกันมาตั้งแต่ คุณหญิงพรรณ คุณหญิงวาด งานบุญวัดกลาง ฉลองศาลจ้าวนี่ น้ำเต้าหู้คุณหอมไม่เคยพอ โม่ถั่วเหลืองกันทั้งวันทั้งคืน โม่ตัวนี้ตั้งแต่คุณหญิงพรรณแล้วมังคะ หินน่ะไม่พัง พังก็แต่มือจับหมุน ไอ้มั่นมั่นทำให้ใหม่” แม่ลำพาเดินเข้ามา


“แล้วนี้แม่ลำพาจะทำอะไรคะ ถึงเอาโม่ออกมา”


“คุณกรันมาซ่อมเครื่องหีบอ้อย ป้าเลยถือโอกาสปัดกวาด จับวาง ซ่อมของแตกหักใหม่ เอาใจคุณหนู ให้อยู่ที่นี่นานๆ ไงคะ แล้วนี้ว่าจะทำปั้นขลิบสูตรคุณหอมค่ะ ต้องใช้แป้งข้าวจ้าว ป้าแช่น้ำทิ้งไว้แล้วแต่เมื่อคืน โม่ใหม่ๆ หอมนุ่ม นึ่งแล้วไม่แตกค่ะ”


จันนวลฉุกคิด “มีเยอะไหมคะ อยากขอแบ่งสักหน่อย”


“ได้เลยค่ะ คุณหนูจะทำอะไรคะ”


“จะทำเส้นก๋วยเตี๋ยวค่ะ ตอนอยู่ที่กรุงเทพก็งานยุ่งจนไม่มีเวลา เดี๋ยวนี้เส้นใหญ่ไม่อร่อยเหมือนสมัยก่อน แม่ลำพาแช่ข้าวจ้าวเพิ่มให้ด้วยคะ พรุ่งนี้เช้าค่อยโม่ นึ่ง จะทำก๋วยเตี๋ยวหมูสับให้ทานกัน”


กรันรู้สึกทึ่งแกมประหลาดใจ ผู้หญิงดูทะมัดทะแมง ทำงานคล่องแคล่วคนนี้ช่างมีแง่มุมให้ทำความรู้จัก ยิ่งเข้าใกล้ กรันยิ่งหลงรัก และอยากเข้าใกล้ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แม้จันนวลจะไม่ถอยห่าง แต่ความรู้สึกบางอย่างก็บอกว่าให้กรันหยุด “คอย” ตรงนั้น


“อย่างนี้ต้องไปตลาดหน่อยแล้ว ไม่ได้ไปมานานแล้วเหมือนกัน” จันนวลพูดพลางเดินดูของเก่าเก็บในตู้และชั้นไม้ ถ้วยชามสีเขียวเข้มอ่อน จัดวางเรียงขนาดกัน ให้หยิบจับง่าย


“ถ้วยชามที่นี่เหมือนกันหมดเลยนะคะ celadon สีเขียวแบบนี้คลาสสิกดีจัง”


“สังคโลกครับ ในมือคุณนวลนั่นหลายตังค์นะครับ” กรันเอ่ย


“ค่ะ เคยได้ยินอยู่เหมือนกัน คิดว่าคล้าย celadon ของทางเชียงใหม่”


“คล้ายกันครับ สังคโลกเก่าแก่กว่ามาก ยิ่งแบบเก่าๆ จะบางกว่า ดูออกด้านๆ และเขียวสวยกว่า”


“สมัยก่อน บ้านเราก็ใช้แต่เครื่องสังคโลก เพราะเป็นของท้องถิ่น ใช้กันมาตั้งแต่สมัยคุณหญิงพรรณแล้วค่ะ”


จันนวลนึกพลาง “เคยเห็นชุดกรวดน้ำที่บ้านคุณยายค่ะ สีคล้ายแบบนี้เลย แม่คงเอาไปใช้ที่บ้านคลองชักพระด้วย”


“สังคโลกเป็นความภูมิใจของเราคนสวรรคโลก ศรีสัชนาลัย ครับ คุณนวลรู้ไหมครับเตาเผาถ้วยชามสังคโลกแถวนี้ มีเป็น 500 - 600 เตาเลยนะครับ เก่าแก่ที่สุดนี่เกือบ 1000 ปีเลยทีเดียว”


“อืมม มิน่าล่ะ อย่างที่วันนั้นเราไปเที่ยวกัน ศรีสัชนาลัย เป็นจุดต่อแดน มีการค้าคึกคัก ถ้วยชามสังคโลกนี่ คงผลิตแลกเปลี่ยนซื้อขายกันด้วย เพราะเป็นของใช้ในครัวเรือน หรืออาจเป็นของฟุ่มเฟือยต่างถิ่นที่แถบอื่นๆ อยากได้ น่าสนใจมากค่ะ อย่างนี้ต้องลงบันทึกไว้ ตอนทำรายงานส่ง UNESCO จะได้มีเนื้อหาที่หนักแน่น น่าเชื่อถือ”


“ถ้าคุณนวลสนใจ ผมขอเชิญไปชมที่บ้านครับ ผมมีสตูดิโอและเตาเผาสังคโลกอยู่ด้านหลังครับ เผื่อมีประโยชน์กับงานคุณนวลครับ”


“ดีจังคะ น่าสนใจมาก เอ.. งั้นเดี๋ยวเสร็จจากตรงนี้ ขอไปตลาด บ่ายๆ น่าจะมีเวลาแวะไปดู คุณกรันไปตลาดกับนวลไหมคะ”


ไม่เพียงแต่กรันเท่านั้นที่อยากรู้จักจันนวล จันนวลเองก็อยากรู้จัก กรัน เช่นกัน แม้ไม่พร้อมจะเริ่มใหม่กับใครในเวลานี้ แต่การมีเพื่อนที่ดี ก็ไม่เสียหายอะไร


ด้านหลังโรงหีบ เป็นเตาเคี่ยวน้ำอ้อย เรียงกัน ๕ หัวเตา อิฐเก่าคร่ำคร่าขัดสะอาดขึ้นเงาบ้าง ซีดด้านบ้าง ให้เห็นว่าผ่านการใช้งานมาจริง กะทะใบบัว แขวนอยู้ที่เสาเรียงกันไปจนสุดทางยาวหัวเตา ไม้พายใหญ่ เนื้อไม้คล้ำ คงผ่านงานมาหลายมือ


“โว้ง ครับคุณหนู ไว้กันฟองล้นเวลาเคี่ยวน้ำอ้อย” จันนวลค่อยจับยกปล่องสูงสานด้วยไม่ไผ่ บางอันทะลุเป็นรูกว้าง แทบใช้งานไม่ได้


“แล้วยังมีคนทำอยู่ไหมคะ พี่มั่น โว้ง นี่”


“ต้องสั่งครับ ก่อนหน้าหีบอ้อย ชาวบ้านจะไปสั่งในตลาด ยังเป็นของจำเป็นเวลาเปิดเตากันครับ”


จันนวลตื่นเต้นที่จะได้เห็นเตาน้ำอ้อยกลับมามีชีวิตอีกครั้ง จะอย่างไรก็ต้องอยู่ดูให้ได้


“ปลายปีใช่ไหมคะ พี่มั่น ตัดอ้อยกัน”


“ครับ ผมขอปันอ้อยจากชาวบ้านไว้แล้วครับ”


จันนวลมองดูโรงหีบอ้อยพลางคิดถึงโรงนาในแถบป่าดำ เยอรมนี เพดานโปร่งระบายความร้อนได้ดี โครงสร้างไม้รับน้ำหนักหลังคาเหลื่อมสลับซ้อนกันสะท้อนฝีมือเชิงช่างที่คำนวณคิดน้ำหนักไว้อย่างดี


“ไปตลาดกันเถอะ ครับ สายกว่านี้จะร้อน คุณนวลยังไม่รู้จักแดดเมืองสวรรคโลกดี”


“ขอไปหยิบตะกร้าสักครู่นะคะ”

13 views0 comments

Comments


bottom of page