top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย (๒๐) : สวรรคโลก Atelier (2)


วันเสาร์ ตลาดเทศบาลจะวายช้ากว่าวันธรรมดา กรันหาที่จอดรถไกลออกไปสักหน่อย เพราะตั้งใจพาจันนวลชมโค้งน้ำยม “สวยที่สุด” ในสายตาของหนุ่มใหญ่ ตึกแถวจีน 2 ชั้นแบบยุคก่อนเรียงยาวลึกเข้าไป มีถนนคั่นกลาง แลดูเป็นระเบียบ สะท้อนว่า สวรรคโลก เคยผ่านความรุ่งเรืองมาครั้งหนึ่ง และแม้จะร่วงโรยไปตามเวลา ร้านรวงปิดเงียบ แต่ความสง่างามของบ้านเมืองไม่จางไป


“สมัยก่อนคงคึกคักนะคะ กรัน”


“ครับ ตอนผมเด็กๆ ตึกแถวพวกนี้เปิดกันถึงมืดค่ำ อย่างนี้ล่ะครับ พอมีทางรถ รถไฟก็เงียบเหงา สวรรคโลกนี่ อยู่ได้เพราะรถไฟเลยนะครับ เราเคยเป็นแหล่งค้าพืชไร่ที่ใหญ่สุดในแถบนี้ พวกถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง นี่ต้องประกาศราคากลางกันที่นี่ ยายผม แม่ผม ก็ค้าส่งพืชไร่ให้คนในตลาด ฝ้ายก็มี แต่หลังๆ แม่เคยบอกว่าเพลี้ยลง แมลงลง ได้ไมคุ้มเสียเลยเลิกไป สมัยก่อนแม่เล่าว่า รถไฟวิ่งกันวันละ 6 เที่ยว ไป 3 มา 3 รับพืชไร่แถบนี้ จากทุ่งเสลี่ยมด้วยไป บ้านดารา แล้วส่งลงกรุงเทพฯ เดี๋ยวเราเดินไปดูกันที่สถานีรถไฟก็ได้ครับ”


กรันมีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่าเรื่องเก่าๆ ซึ่งจันนวลนึกไม่ออกเลย แม้จะเกิดอยู่ที่นี่ แต่เหมือนมาต่างเมือง เพราะอยู่กรุงเทพเป็นส่วนมาก เมื่อก้าวเข้าเขตตลาด สายตาแทบทุกคู่ก็มองที่จันนวล จนกรันเขิน แต่จันนวลกลับเฉย


“ดูสิคะ เขามองกรันทั้งนั้นเลย นี่คงหล่อที่สุดในสวรรคโลกแล้วมังนี่”


“หล่อและแก่ขนาดนี้ ผมจีบคุณนวลได้ไหมครับ” กรันถือโอกาสยามติดตลกรุกคืบแบบจันนวลตั้งตัวไม่ทัน


“ขอคิดก่อนนะคะ ว่าจะให้จีบไหม ไหนขอทดสอบดูก่อน” จันนวลคว้ามือกรันมาจับ พลางสอดมือเข้าอุ้งมือกรัน จนกรันเองทำอะไรไม่ถูก หน้าแดงเขินอาย แต่ก็กุมมือจันนวลเดินตลาด


“แม่คุณ สวยอย่างกับนางฟ้า วันนี้มาซื้ออะไรจ๊ะ” แม่ค้าแม่ขายทักทายจันนวล ต่างก็จำได้ว่าเคยมากับแม่ลำพา


จันนวลเดินตลาด เลือกซื้อ ผักทั้ง ขึ่นฉ่าย ผักชี ผักกาดหอม หอมหัวใหญ่ เนื้อหมู ฉับไว ไม่โอ้เอ้ ผลไม้สดจากไร่ ทั้งมะละกอ สับปะรด อะไรๆ น่าซื้อไปเสียหมด จนตะกร้าโบลก้าแบบอาฟริกันเต็ม


“คุณนวลเคยกินข้าวผัดปลาทูไหมครับ ที่ข้างสถานีรถไฟมีร้านเก่าแก่ อร่อยทีเดียว ผมอยากให้ลอง”


จันนวลไม่ขัด เมื่อกรันเอื้อมมือแตะแขนพาเดินไป ลมต้นฝนเย็นพอชื้นสบายตัว แม้จะมีแดดบ้าง แต่ก็ไม่ร้อนเผาอย่างหน้าร้อนที่ผ่านมา เจ้าของร้านจำได้ว่าเป็นลูกสาวท่านนายพลขวัญสรวง ยิ้มให้แกแต่ก็ไม่กล้าจะคุย จนจันนวลยกมือไหว้ “แม่คุณ ไม่เสียแรงท่านนายพล คุณหอมจันทน์ สั่งสอนลูกดีเหลือเกิน”


จันนวลเอ่ยขอบคุณ ไม่นานนัก ข้าวผัดปลาทู 2 จานก็วางตรงหน้า กลิ่นหอมจากข้าวที่ผัดด้วยไฟแรงๆ กะทะเหล็กร้อน โชยขึ้นจมูก แม้ยังไม่ได้ตัดเข้าปากก็รู้ทันทีว่าอร่อย


“ข้าวผัดต้องแบบนี้ค่ะ ข้าวแห้งเรียงเม็ด” จันนวลแยกแตงกวาหั่นซีกยาวให้กรัน เพราะกินไม่เป็นแต่ไหนแต่ไร กรันยิ้มรับ สายตาอบอุ่นทอดมาสู่สายตาอีกคู่ ที่ดูแข็งกล้า ละอองเหงื่อที่จอนของกรัน เกาะเป็นเม็ดใหญ่ จันนวลหยิบกระดาษซับให้ ก่อนจะไหลลง “ขอบคุณครับ”


เสร็จจากมือกลางวัน กรันพาจันนวลเข้าไปสถานีรถไฟสวรรคโลก มีคนจูงลูกหลานมานั่งเล่น รับลม เด็กๆ วิ่งเล่นอยู่บนชาลา ตาชั่งตัวใหญ่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว กรันทักนายสถานี


“นี่ล่ะครับ ตาชั่งที่ใช้ชั่งน้ำหนักพืชไร่ก่อนขนขึ้นรถไฟ หนักเท่าไร มีค่าระวางบอก จ่ายแล้วก็ขนขึ้นได้ คุณนวลสังเกตไหมครับว่าทำไมที่สวรรคโลกถึงมีธนาคารมากมาย สมัยก่อนเงินสะพัดมาก แล้วยังมีพวกนายห้างฝรั่งที่ทำไม้อีกนะครับ เลยขึ้นไปแถบแก่งหลวงตรงนั้น เวลาล่องซุงลงมาตามน้ำยมจากเมืองสอง เมืองแพร่ ต้องมาผูกซุงกันใหม่ที่ แก่งหลวง ครับ ต้องจ้างแรงงานชาวบ้าน ทั้งไทย ทั้งลาว จีน เต็มไปหมด”


บ้านชั้นครึ่งบนเนินหญ้า ร่มรื่นด้วยไม้โปร่ง บังตาได้ดี ดูเรียบง่ายด้วยปูนเปลือย หน้าบ้านมีกระถางต้นไม้สีเขียวต่างทรงต่างขนาด เรียงลดหลั่นกัน ไว้ปลูกโป๊ยเซียน ชวนชม ชาดัด พลันเสียงเล็กใสดัง..​


“สวัสดีค่ะ คุณน้าคนสวย” เด็กหญิงบัววิ่งออกมารับ พร้อมกับเด็กๆ ลูกคนงานในบ้าน ต่างวิ่งเล่นกันสนุกสนาน แม่บ้านสูงวัยออกมายืนรับ จันนวลไหว้


หลังบ้านมีทางเดินโรยกรวดละเอียด แผ่นศิลาแลงวางไปตามทางเดินถึงโรงเรือนขนาดย่อม โปร่งด้วยหลังคาสูง คล้ายสตูดิโอศิลปินในอิตาลี หรือฝรั่งเศส กรันผลักประตูเชิญจันนวลเข้าด้านใน โต๊ะไม้ตัวเขื่องวางอยู่กลางโรงเรือน อ่าง ชาม โถ กระถาง และอะไรต่อมิอะไร วางเรียงราย บ้านซ้อนกันขึ้น ถัดไปมีแป้นหมุนขึ้นงานปั้น ขนาดต่างๆ โต๊ะเขียนแบบ พร้อมโคมไฟใหญ่ อยู่ถัดไป มีมุมพักผ่อน นั่งเล่น และเครื่องต้มกาแฟอยู่ข้างกัน ด้านใน มีแผงเครื่องมือช่างไม้ แขวนเรียงราย ...


“Atelier” จันนวลพูดภาษาฝรั่งเศส หมายความถึง สตูดิโอของศิลปิน


“หอมกลิ่นอะไรคะนี่ อ่อนๆ” จันนวลมองไปรอบๆ


“ดิน ครับ ดินเมืองสวรรคโลก ศรีสัชนาลัย ที่ผมใช้ปั้นงานต่างๆ นี่ไงครับ”


จันนวลมองตามมือกรันที่ผายไปตามพื้นและกองดินมีผ้าคลุมอยู่ จันนวลย่อตัวลง เอื้อมมือแตะ “ดิน” พลางนึก


‘ดิน แผ่นดิน เมืองสวรรคโลก ที่แม่รักนักหนา จนวันสุดท้ายก็ไม่ยอมกลับไปบ้านคลองชักพระ’


“เนื้อเนียน เย็น ดีจังนะคะ”


“ครับ ดินศรีสัชนาลัยนี่ ใช้ปั้นงานสังคโลกมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ก็เกือบพันปี เครื่องสังคโลกจากศรีสัชนาลัยจะไม่ใช้ดินจากที่อื่นเลย แม้แต่น้ำยาเคลือบก็จะทำขึ้นจากดินในศรีสัชนาลัยนี่ แถบริมน้ำยม ดินมีแร่ธาตุดีมาก เป็นทั้งวัตถุดิบปั้นและทำน้ำยา”


กรันเดินจูงมือจันนวลไปออกทางด้านหลังโรงเรือน


“เตาทุเรียงครับ ผมพยายามหาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง ทั้งเอกสาร ทั้งสถานที่จริง แถวเกาะน้อย จะเป็นแหล่งใหญ่ ผมยังไม่มีโอกาสพาคุณนวลไปดูเลย”


“ไม่ต้องรีบค่ะ ยังอยู่อีกนาน มีเวลา”


“อยู่ตลอดได้ไหมครับ” กรันหรุบตาต่ำลง กลายเป็นหนุ่มน้อยทันที เมื่อเขินอาย


“อะไรๆ ในโลกนี้ มันไม่แน่นอนสักอย่าง เรา 2 คนผ่านเรื่องราวต่างๆ มามากมาย สุขบ้าง ทุกข์บ้าง สุดท้าย เราคุมอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง กรัน ยังไม่ชินอีกหรือคะ นวลอยากให้มันเป็นไป อย่างที่มันเป็น ไม่ต้องไปคิดอะไรไกลเกินกว่า วันนี้ พรุ่งนี้”


กรัน ไม่ได้รู้สึกผิดหวัง ทว่าได้สติ จันนวลดูเข้มแข็งมากในทางอารมณ์ กรัน ถือโอกาสดึงจันนวลเข้าไปกอด แผ่วเบา หัวใจเต้นแรง เหนื่อยล้าของหนุ่มใหญ่ 43 ปี กลับฟื้นชีวิตอีกครั้ง จันนวลไม่ขัดขืนแต่อย่างไร ปล่อยให้อีกฝ่ายซบไหล่อยู่ตรงนั้น


“ขอบคุณครับ ที่ไม่รังเกียจผม” กรันคลายแขนออก


“มาต้มกาแฟให้นวลกินดีกว่า บ่ายมากแล้ว เป็นเวลากระตุ้นสมอง”


กาแฟชั้นดีหอมกรุ่นในมือ พลางเดิน “เตาทุเรียงที่พบในแถบศรีสัชนาลัย มีหลักๆ ก็ 3 แบบครับ แรกเริ่มก็อาศัยเนินดินช่วยกักความร้อน ตรงที่เป็นช่องเล็กๆ มีหลังคาคลุมอยู่ด้านบนเรียกว่า เตาขุด ปากทางเข้าจะแคบ ต้องมุด ตรงกลางจะป่องออก ไว้เรียงถ้วยชามที่จะเผา และสอบเข้ากันตรงปลาย เป็นเตา มีปล่องระบายความร้อนเจาะขึ้นไปถึงพื้นดิน ผนังนี่ สมัยก่อนใช้ดินเหนียวผสมกับแกลบยาให้แน่น ทนความร้อน 1000 องศาสบายๆ แต่นานไปก็แตก ต้องซ่อม ปัญหาของคนสมัยก่อนคือเรื่องน้ำ หน้าน้ำหลาก ก็จะท่วมเจิ่งเลยครับ เตาแบบนี้ ใช้เผาพวกเนื้อแกร่งจะดีมาก ทนทาน ผมใช้เผาพวกเครื่องหัวบันได หรือโคมไฟ เตรียมไว้ตกแต่ง ศาลาการเปรียญหลังใหม่ ข้างพิพิธภัณฑ์ไงครับ”


บนเนินดินตรงนั้นเป็นเตาประทุน มีหลังคาโค้งขึ้น เผาเครื่องถ้วยชาม หม้อไห เนื้อแกร่งได้ ครับ แต่หน้าน้ำหลาก แม้ไม่ท่วมก็เจอปัญหาความชื้น ผนังจะแตก ตัดไป เป็นเตาอิฐ ก่อสูงขึ้นมาจากพื้นสัก 2-3 เมตร เตาแบบนี้ถือเป็นวิวัฒนาการขั้นสุดของเตาเผาในสวรรคโลก ศรีสัชนาลัยเลยครับ ทนความร้อนได้ดี ถึง 1,300 องศา ควบคุมให้ความร้อนออกทางเฉียง กระจายลมร้อนได้ดีกว่า อายุการใช้งานก็นานกว่า เตาก่ออิฐนี่ ใช้เผาพวกเนื้อแกร่งได้ดี


ตอนนี้ผมทำเวิร์กชอปร่วมกับกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาใน ฟลอเรนซ์ ฤดูร้อนปีหน้าผมจะไปเสนอผลงานที่นั่น แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้กัน


“น่าสนใจมากค่ะ น้อยคนจะรู้ว่า ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก มีอะไรมากกว่าอุทยานประวัติศาสตร์”


“เหมือนเราถูกลืมครับ แต่ข้อดีก็คือ ไม่วุ่นวาย ทุกอย่างยังมีธรรมชาติคุ้มครองรักษา คุณนวลดูสิครับ อุทยานประวัติศาสตร์ที่เราไปก็ร่มรื่น ทั้งหมดมันสะท้อนตัวตนความเป็น ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก”


บ่ายจัด แดดอ่อนแสงลง จันนวลขอตัวกลับเพราะต้องไปเตรียมของทำก๋วยเตี๋ยวหมูสับ กรันเดินไปส่ง มีหนูบัวตามไปด้วย


ข้าวจ้าวสวรรคโลกแช่น้ำอิ่มตัวดี แสงไฟวอมแวมจากโรงหีบอ้อยติดสว่างขึ้นมาอีกครั้ง นานนับหลายสิบปี ที่โรงหีบอ้อยนี้ เงียบเหงา ไร้ชีวิต...​


จันนวลตักข้าวจ้าวหยอดลงในโม่ พลางหมุนช้า ไปเรื่อยๆ สักพักน้ำแป้งล้นออกจากขอบหิน ไหลลงรางหิน ต่อลงในถังที่รองไว้ จันนวลจดจำทุกขั้นตอนจาก ยาย ซึ่งมักจ้างให้เด็กๆ โม่แป้งแลกกับเงิน 5 - 10 บาท จริงๆ แล้วเป็นการฝึกสมาธิอย่างดี ไม่นานนักก็ได้แป้งเต็มถัง เนื้อข้าวจ้าวเริ่มตกตะกอน รอจนนอนก้นดีจึง รินน้ำออก แม่ลำพาคลี่ผ้าขาวบางแผ่บนกระด้ง จันนวลเกลี่ย เนื้อแป้งให้ทั่วกระด้ง ไม่จับเป็นก้อน ผึ่งลมไว้ เช้ามืด รุ่งขึ้น ค่อยมาผสมแป้งมันเล็กน้อยให้เหนียว เพราะลำพังแป้งข้าวจ้าวอย่างเดียวจะร่วนไป


หลังอาบน้ำทุกครั้ง จันนวลติดจะพรมโคโลญจน์ทุกครั้ง ต่างกลิ่นกันไป บางทีก็ผสมกัน หอมสดชื่น วันนี้ช่างยาวนาน รู้สึกใช้เวลาได้คุ้มค่าดีเหลือเกิน ‘คุณเป็นคนเยอรมัน ยิ่งกว่าคนเยอรมันอีกนะ จานา’ ไฮน์ริชมักแซวก่อนเข้านอนตึกใหญ่ จันนวลกราบพระและพระฤาษีทั้ง 2 องค์ หมายมั่นจะอ่านบันทึกต่อ แต่กลับลืมเรื่องกล่องเหล็กใต้หัวเตียงเสียสนิท



ธันวาคม 2448


เมื่อหลายวันก่อน กงศุลฝรั่งเศสประท้วงเรื่องการสร้างทางรถไฟออกไปทางมณฑลลาวพวน ซึ่งฝ่ายสยามแลกรมรถไฟกำลังวางแผนการวางราง จากเมืองโคลาด ไปหนองคาย เรากำลังจะเริ่มสำรวจเส้นทางในอีกไม่ช้า แต่กงศุลฝรั่งเศสเข้าขัดนี่ เปนการลเมิดโดยแท้ เราไม่ใช่เมืองขึ้นเมืองออกของฝรั่งเศส แลเราก็ได้ยกหัวเมืองแม่น้ำโขงฝั่งซ้ายแลขวาให้ฝ่ายฝรั่งเศสไปมากแล้ว นี่เปนแผนดินของเรา ทำไมเราจะทำการใดๆ ไม่ได้ ท่านเจ้าคุณยนตรฯ เองว่าเรื่องฝรั่งเศสนี้มักเอาเรือปืนเข้าขู่ เหตุนี้เราจึงยังต้องอาศัยฝ่ายบริเตนคานฝรั่งเศสอยู่ ยามนี้สยามประเทศยังต้องรมัดรวังตัวมากยิ่งกว่าเดิม คราว รศ ๑๑๒ ว่าหนักแล้ว คราวนี้จะเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องรถไฟอีก


4 กพ 2449


ในที่สุด ฝรั่งเศสก็เข้าแทรกแซงการรถไฟที่จะออกไปมณฑลลาวพวนจนได้ โดยอ้างว่าไม่เปนไปอย่างในสัญญาที่ทำไว้ หากมีการสร้างทางรถไฟสายตะวันออกจากเมืองโคลาดขึ้นไปทางแม่น้ำโขง จะต้องเปนคนชองสยามแลฝรั่งเศสเท่านั้น ข้อนี้ ทำให้นายช่างลูอิสโกรธเสียจนหน้าดำหน้าแดง ฝ่ายสยามให้เหตุผลว่า เจ้ากรมรถไฟ แม้จะเปนชาติเยอรมัน แต่ก็ถือว่าเปนคนของฝ่ายสยาม จึงให้ทำงานร่วมกับฝรั่งเศสได้ แต่ทางฝรั่งเศสกลับอ้างว่าเราไม่ทำตามสัญญา ต้องเปนคนสยามแท้ แล้ว จะเปนไปได้อย่างไร กรมรถไฟเพิ่งก่อตั้งได้เพียง ๑๕ ปี สยามเปนอู่ข้าวอู่น้ำ ไม่เคยได้เรียนวิชาการช่างอย่างฝรั่ง ข้อนี้เหนได้แท้เทียวว่าฝรั่งเศสจงใจกีดกั้นเยอรมัน แลต้องการเข้ายึดอำนาจสายแม่โขงนี้ แต่การนี้พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงยอม จึงมีรับสั่งให้เลื่อนการสร้างทางรถไฟสายมณฑลลาวพวนนี้ออกไปก่อน


การนี้ฝ่ายเราแก้ทางฝรั่งเศสด้วยเรื่องการสั่งซื้อเหลกอันจะใช้ในการสร้างสพานทางรถไฟข้ามแม่น้ำน่านที่เมืองพิชัย ในคราวแรก นายช่างลูอิสได้เสนอให้มีการเสนอราคาเหล็กที่จะสร้างสพานจากประเทศต่างในยุโรป แต่สุดท้ายกระทรวงให้เสนอราคาเฉพาะในประเทศเยอรมนีเท่านั้น การตัดสินใจเช่นนี้ย่อมทำให้ทั้งฝ่ายบริเตนแลฝรั่งเศสไม่พอใจ แต่ฉันมองว่าฝ่ายเราต้องการแสดงให้เหนว่าอำนาจตัดสินอยู่ที่สยาม การจะใช้สยามประเทศเปนเครื่องมือบีบให้เยอรมนีมีบทบาทน้อยลง สยามก็ไม่ยอมเช่นกัน


มีนาคม


เรื่องที่ฉันตื่นเต้นคือเจ้าคุณยนตรมีหนังสือมาที่มณฑลว่าเมื่อได้สร้างสพานข้ามแม่น้ำน่านไปแล้ว ให้ตัดทางรถไฟออกมาทางตวันตกไปเมืองสวรรคโลก ด้วยเวลานี้การค้าการขายที่สวรรคโลกเร่ิมคึกคัก ถั่วยี่สง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าว ฝ้าย ยาสูบเริ่มมีการค้าขายกันมาก เหนว่า ทางบ้านเราต่างวัวไปขายที่ท่าอิฐ เรื่องนี้ แม่พรรณรู้เข้าคงดีใจจนเต้น เรื่องทางรถไฟไปสวรรคโลกนี้ คงวางแผนให้ไปถึงเมืองระแหง ท่านเจ้าคุณยนตรฯ ว่าอยากให้เอาสินค้าทางเมืองระแหง แลเมืองลำปางมาขาย อีกอย่างคือ การมีรถไฟสายเมืองระแหงนี้จะเปนคุณยิ่งขึ้น เพราะช่วยตรวจตราไม้ที่จะลักลอบส่งออกไปทางเมืองระแหง พวกคนในบังคับบริเตน มักฉวยโอกาสเช่นนี้เสมอ การสำรวจเส้นทางรถไฟออกไปทางระแหงนี้ ท่านเจ้าคุณยนตรฯ อยากให้ช่วยเกบป็นความลับไว้ก่อน ไม่อยากให้ฝ่ายบริเตนได้รู้ เพราะทางบริเตน เร่งรัดให้สร้างทางรถไฟสายใต้อยู่ทุกวัน แลอีกทั้งเงินทุนที่จะหามาก็ยากเตมที


เท่าฉันได้ฟังมาจากผู้ใหญ่ หลังเกิดเหตุการณ์ รศ ๑๑๒ บริเตนกับฝรั่งเศสตกลงกันเองให้สยามเป็นรัฐกันกระแทกระหว่าง ๒ ฝ่าย ทั้งยังแบ่งผลประโยชนกัน บริเตนอยู่ข้างตวันตก เพราะมีพม่า อินเดีย มลายู ในมือ ส่วนฝรั่งเศสต้องการคุมเส้นแม่น้ำโขงทั้งหมด หน่วยราชการลับเคยแจ้งว่า ฝรั่งเศสมีแผนจะสร้างทางรถไฟจากฮานอยลงมาทางใต้ถึงเมืองไพรนคร ส่วนที่เปนกลางคือ พระนคร แลลุ่มเจ้าพระยา เหตุนี้กระมัง ทางรถไฟสายสวรรคโลก - ระแหง จึงจะช่วยรักษาสยามประเทศฝั่งตวันตก


ท่านเจ้าคุณยนตรอยากให้ฉันได้ลองดูเส้นทางว่า จากเมืองสวรรคโลกจะวางรางออกไป ผ่านเมืองอะไรได้บ้าง คราวนี้ฉันคงได้กลับไปอยู่บ้าน เล่นกับตาแสงได้บ่อยๆ ขึ้นข่าวดีอีกเรื่องคือ แม่พรรณกำลังตั้งท้องอ่อนๆ ในอีกไม่กี่เดือน ฉันก็จะมีลูกคนที่สองแล้ว


20 views0 comments

Comments


bottom of page