top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย (๒๒) : ฟื้นฟู เจือจาน (1)



“Back to the 12th century and more, the mainland of Southeast Asia was dominated by the Khmer Kingdom with the center at Angkor Thom (in Siemreap). Its dominance was recognised by different small clans to the north, south and the far-west of mainland, including Lawo (Lopburi) and Chaliang (Si Satchanalai)…..”


รายงานเริ่มด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งของแคว้นสุโขทัยนับแต่ระยะเริ่มแรก เมื่อยังอยู่ใต้อำนาจของเขมรโบราณ ยุคนครธม แคว้นสุโขทัยเป็นเป็นแคว้นเล็กๆ ที่ยอมรับอำนาจเขมร และเมื่ออิทธิพลของอำนาจเขมรเสื่อมลง สุโขทัยจึงค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้นด้วยบทบาทการเป็นชุมทางการค้า ทั้งจากหัวเมืองมอญ ในเขตประเทศเมียนมาร์ปัจจุบัน หรือจากเมืองละโว้ ผ่านขึ้นไปยัง ล้านนาตะวันออก เช่นเมือง แพร่ น่าน หรือ ทางตะวันออกเฉัยงเหนือ ผ่านอุตรดิตถ์ ข้ามแม่น้ำโขง ไปยังเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาวในปัจจุบัน ...


ฟ้าเริ่มแจ้ง แสงอาทิตย์สว่างขึ้นเรื่อๆ จันนวลจัดที่หลับที่นอนเข้าที่ เดินลงไปที่ครัว กินมื้อเช้าเสร็จ ก็ขอตัวกลับขึ้นมาเขียนรายงานต่อ สักพัก จึง เรียงจดหมายที่คลี่ออกไว้เมื่อคืนตามวัน เวลา แต่ก็ทำได้ไม่ดีนัก เพราะ หมึกเลือนไปมาก ต้องเพ่งแล้ว เพ่งอีก ...


พฤษภาคม ๒๔๖๔

ฉบับที่ ๑


แสงเพื่อนรัก


ข้ากับเองไม่ได้เจอกันนานแล้วนะ วันก่อนเจอป้าพรรณ แกบอกว่าเองเพ่อจะจับรถไฟกลับมาเยี่ยมบ้าน เราคลาดกันตลอดมานะเอง ข้าขอยินดีกับเองด้วย ที่สอบเข้าฝ่ายโทรเลขได้ นับว่าเองมีความก้าวน่าทีเดียวนะ แสง อีกไม่ช้าไม่นานเองก็คงจะเก่งภาสาอังกฤศเปนมั่นคง ข้าขอบใจเอง ที่ฝากหนังสือภาสาอังกฤษมาให้ข้า ตอนนี้ ข้าเรียนภาสาอังกฤษกับหมอศาสนา ที่เมืองแพร่ เดี๋ยวนี้ ข้ากับพ่อขึ้นเมืองแพร่ เมืองสอง พะเยา พยาก เชียงตุง กันบ่อย ขึ้นเชียงตุงคราวหนึ่ง ข้าก็ได้พบ หมอสอนศาสนาอีกท่านหนึ่ง สอนภาสาอังกฤศข้า ข้าได้อ่านพระคัมภีร์ สนุกดีนัก มีนิทานเล่าต่างๆ ให้เหนบ้านเมืองต่างถิ่น พอลงมาเมืองแพร่ข้าก็ได้เรียนกับหมอศาสนาอีกคน พ่อมักอยู่ที่แพร่นาน เพราะต้องช่วยพวกนายห้างป่าไม้คัดไม้ บางต้นใหญ่ ๖ คนโอบ พ่อว่ากานไม้อยู่หลายเดือนกว่าจะตัดได้ แต่ข้าเสียดายต้นไม้ สงสารผีนางไม้ จะไปอยู่กันที่ไหน เออ แต่เองก็ไม่ต้องกลัวว่าข้าจะเข้ารีตดอกนะ ข้ายังไหว้พระสวดมนต์เหมือนเดิม หมอเขาก็แต่สอนเรื่องความเชื่อในพระเจ้า เราก็เชื่อในพระธรรม หากข้าได้เรียนต่อเนื่องกันนานๆ ข้าก็คงจะเก่งภาสาอังกฤศไม่แพ้เองหรอกน่า ไอ้แสง


ข้าตื่นเต้นกว่าเองอีกละมัง ที่เองเข้าเรียนโทรเลข กะเดี๋ยวนี้บ้านเมืองโตขึ้นมาก ตั้งแต่มีรถไฟมาถึงบ้านเรานี่ ค้าขายคึกคักมาก เหนพ่อข้าบอกว่าท่านข้าหลวงมณฑลส่งเสริมให้ปลูกฝ้ายกัน เพราะบ้านเราแล้ง ฝ้ายมันทนแล้งดี พวกพวนก็จะได้มีผ้าทอ ส่งไปขายที่ พิชัย อุตรดิฐ คนฝั่งลาวก็ชอบผ้าพวกพวนทออยู่ เดี๋ยวนี้พ่อมักรับของจากพระนครที่ อุตรดิฐ แล้วเลยข้ามไปฝั่งลาว พวกกผ้าห่ม มุ้ง นี่ขายดีจริงๆ ของจากลาวนี่ ข้าขายเครื่องเงินได้มาก คนพระนครแต่งตัวกันงามๆ ข้าเหนจากหนังสือพิมพ์หลายเล่ม เดี๋ยวนี้ผู้หญิงก็ไว้ผมยาวกันมากขึ้น


สักวันข้าจะไปเยี่ยมเองที่พระนครให้ได้ คอยดูเถิด ข้าอยากไปดูร้านหนังสือใหญ่ๆ ไอ้แสง เองต้องพาข้าไปดูเขาทำหนังสือพิมพ์ด้วยนะ ข้าอยากไปทำงานกับ ศรีกรุง



ฉบับที่ ๒


แสงเพื่อนรัก


กว่าข้าได้มาเปิดอ่านจดหมายของเอง ก็เกือบเดือน อย่างนี้ล่ะนะ ลูกพ่อค้าเร่ ข้าเปนลูกคนโต ก็ต้องช่วยพ่อทำงาน ให้น้องๆ ได้ไปเรียนหนังสือ เดี๋ยวนี้หลวงท่านบังคับให้จบชั้นมูล อ่าน ก ข ก กา ออก เราสองคนก็เรียนมาด้วยกันตั้งหลายปี ข้าก็ยังคิดถึงอยู่ไม่เสื่อม อยากไปเล่นน้ำที่แก่งหลวง ดูเขาผูกซุง กัน


แสง เองเปนคนนอบน้อม เปนบุญนักหนาที่ได้อยู่ในสังกัดรับใช้เจ้านาย เสดจในกรมขุนนครสวรรค ข้าเปนลูกหลานชาวบ้าน ยังเคยได้ยินชื่อท่าน บางคราวที่เองจะถูกดุด่า ฤาคนอื่นให้ร้ายเอง ก็คงด้วยริษยา ข้าเดินทางมากอยู่แถวนี้ เหนคนมากกว่าเอง เองอยู่ในที่ควร พ่อเองเป็นนายทหารผู้ใหญ่ในกรมรถไฟ ก็คงมีคนไม่ชอบขี้หน้าเองอยู่บ้าง ข้าเชื่อว่าที่เสดจในกรมเลือกเองมาอยู่ในสังกัด ก็เพราะเหนว่าเองมีดี ไม่ใช่เพราะจะเหนแก่ท่านเจ้าคุณสรวง พ่อเอง เองอย่าได้สนใจขี้ปากคน สู้เอาเวลาไปมุเรียนฝึกอ่านเขียนโทรเลขจะดีกว่านัก ข้าฟังเองเล่าเรื่องโทรเลขทีไร ก็พลอยตื่นเต้นไปเสียทุกทีสินะ ใครจะเชื่ออยู่กันละเมือง ฝั่งหนึ่งเคาะๆ สัญญาณ อีกฝั่งหนึ่งจับเปนความ เขียนออกมาได้ น่าแปลกใจดีเหลือเกิน ข้าอยากเหนเสียจริงๆ ไอ้แสง ตอนนี้ ข้าอ่านเขียนภาษาอังกฤศได้มากขึ้น คุณพ่อหมอสอนศาสนาสอนให้ข้าแปลพระคัมภีร์ด้วย อยากให้คนสยาม คนลาว เข้าใจพระคัมภีร์ ข้าจะขยันตั้งใจให้มาก อยากไปทำงานที่ห้างไม้ฝรั่ง ข้าเหนเสมียนที่ห้างไม้ เก่งๆ กันทั้งนั้น พวกนี้เปนคนในบังคับอังกฤศ เข้ามาทางเชียงตุงบ้าง เชียงใหม่บ้าง ฤาลางทีก็ข้ามจากทางมะละแหม่งก็มี พูด อ่าน เขียน ภาษาฝรั่งได้คล่อง ข้าเหนแถวหาดเสี้ยว มีพวกคนงาน เงี้ยว ขมุ พวน อยู่เตม ข้าอยากเปนเสมียน จะได้ฝึกภาสาอังกฤศ พ่อข้าคงจะไม่ว่ากระไร เพราะก็แกก็แก่แล้ว เหนว่าอยากไปเปิดร้านเลกๆ รับของจากฝั่งลาว แลพระนครมาขาย ตอนนี้ แถวเมืองพิชัย ค้าขายดี คนจีนก็มาก เรือจอดกันเตม แม้จะมีรถไฟ คนก็ยังใช้เรือกันมาก ...



เสียงเอะอะตึงตัง แว่วขึ้นมาทางหน้าต่าง จันนวลมองออกไปดู คนงานทยอยขนของเข้าโรงหีบอ้อย จึงเดินลงไปดู


“อะไรนั่นคะ พี่มั่น”


“โว้งครับ ที่สั่งไว้ ได้แล้วครับ คนแถวนี้ตื่นเต้นกันใหญ่ว่า บ้านท่านเจ้าคุณใหญ่จะติดเตา”


จันนวลเลิกคิ้ว ยิ้ม ประหลาดใจ


“อ้าว แถวนี้ หลายบ้านก็เคี่ยวน้ำอ้อยไม่ใช่หรือคะ ไม่ใช้บ้านเราบ้านเดียว”


“ครับ แต่ น้ำตาลอ้อย บ้านเจ้าคุณใหญ่นี่ ขึ้นชื่อเรื่อง ความสะอาด ดั้งเดิม คนอื่นเขาเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรกัน แต่ คุณหญิงพรรณ ไม่ยอม ให้ใช้แรง วัว ควาย เพราะไม่มีเขม่าเวลาหีบ”


“คุณวาด ท่านบอกเสมอ วัว ควาย เหมือน เพื่อน เลี้ยงเขา ให้เขาทำงาน เขาจะรู้ตัวว่ามีค่า ท่านไม่เคยทิ้งวัวควาย แม้ตัวเดียว ตัวสุดท้าย ไอ้มั่นเป็นคนฝังกับมือ อยู่ท้ายนานั่นน่ะค่ะ” แม่ลำพาเอ่ยแทรก


ร่างสูงใหญ่ ทะมัดทแมงเดินเข้ามา พร้อมกล่องเครื่องมือช่าง


“วันนี้ จะขัดแต่งหีบอ้อยครั้งสุดท้ายแล้วครับ เดี๋ยวบ่ายๆ จะทดลองหีบดู”


จันนวลมองดูหีบอ้อย เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ทั้งเตาฟืน โว้ง ฟืน งบ ทุกอย่างกำลังกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เหมือนตอนเด็กๆ ที่จันนวลเห็นแม่เคี่ยวน้ำตาลอ้อย ผิดกันที่ว่าคราวนี้จะใช้หีบแบบโบราณจริงๆ กรันตรวจดูเฟืองลูกหีบแต่ละตัวว่าสบกันดีหรือไม่ ขัดจนเนียน ล้างน้ำสอาด ลากออกไปผึ่งแดด ด้านนอกที่ ลานหีบ มีควายเผือกรูปร่างใหญ่งาม


“ควายเผือกครับ ผมขอยืมตัวมาจากโครงการเกษตรครับ พวกเจ้าหน้าที่ก็ตื่นเต้นกัน ไม่เคยเห็นการหีบอ้อยแบบโบราณ”


จันนวลยิ้มรับ ยังไม่รู้จะออกมาอย่างไร หัวหรือก้อย รู้แต่ว่าอยากให้คุณค่าเก่าๆ กลับมามีลมหายใจ อ้อยท่อนยาวหลายมัดค่อยๆ ทยอยนำเข้ามาเรียงหลังโรงหีบ แม่ลำพาเตรียมเตาฟืนไว้ นายมั่นเทียมควาย เข้ากับแกนหีบยาว พอแน่น ไม่อึดอัด แล้วจึงตบที่ข้างตัวให้ควายลองเดินวน สักพัก จนควายเริ่ม รู้งาน กรันเริ่มป้อนอ้อยเข้าหีบ ช่องละ 3 ท่อน เมื่อควายออกเดิน เฟืองแกนลูกหีบทั้ง 3 แกนจะสบกัน บีบให้น้ำอ้อยไหลออกมา นายมั่นว่า บีบได้ 2 รอบ รอบที่ 3 ไม่ควรเพราะ จะเหม็นเขียวซางอ้อย น้ำอ้อยจะไหลผ่านรางไม้ ไปอ่างไม้ที่เตรียมไว้ แม่ลำพาคอยยกไปเทลงถังไม้ จันนวลคอยช่วย ได้พอควรจึงเทลงกะทะใบบัว ใช้ไม้พายคน เมื่อน้ำอ้อยเริ่มเดือด ครอบโว้งลง กันฟองล้น กลิ่นฟืน ไม้ ความร้อนที่อวลอยู่ในโรงหีบช่างมีเสน่ห์เหลือเกิน


น้ำอ้อยเคี่ยวเริ่มหนืด นายมั่นกับคนงานยกกะทะใบบัวขึ้น แม่ลำพาตักน้ำตาลอ้อยหยอดลงในงบหรือพิมพ์น้ำตาล กลมๆ ด้วยความรวดเร็ว “น้ำตาลอ้อยจับตัวเร็วกว่าน้ำตาลมะพร้าวค่ะ คุณหนู ต้องรีบก่อนจะแข็งตัว”


แม้จะห่างหายไปนาน แต่พอติดเตาความเคยชินเดิมๆ ก็ทำให้แม่ลำพาทำได้รวดเร็วไม่ติดขัด ราวกับเพิ่งติดเตาเมื่อปีก่อนมา


22 views0 comments

Comments


bottom of page